สัญญาณควัน

โครงการก่อสร้าง
ภาพจาก : freepik
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ผมเพิ่งคุยกับรุ่นพี่ที่ทำงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

เขาบ่นว่าสถานการณ์ตอนนี้ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงมาก

ตอนที่ฟัง ผมนึกถึงบทวิเคราะห์ของ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น จากจุฬาลงกรณ์ บิสซิเนส สคูล ขึ้นมาทันที

ตอนนั้นเป็นช่วงแรก ๆ ที่มีการถกเถียงว่าธนาคารพาณิชย์มีกำไรเกินควรไหม และแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

ดร.รุ่งเกียรติ เอาข้อมูลของแบงก์ชาติมาวิเคราะห์เป็นข้อ ๆ

ก่อนสรุปตอนท้ายว่า หากดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับลดลงในเวลาอันสั้น เพื่อให้สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของไทย

ADVERTISMENT

“ผมคิดว่าในอนาคตธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะต้องพบกับหนี้เสียอย่างมากเช่นกัน แต่สถานการณ์ดังกล่าวประชาชนทุกคนก็คงเจ็บตัวไม่แพ้กัน และประชาชนทั่วไปไม่ได้มีกำไรในอดีตมาตุนเหมือนธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันประชาชนช่วยกันจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารเอาไปตุนไว้แล้ว”

กรณีของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตอนนี้ เหมือน “งูกินหาง”

ADVERTISMENT

เริ่มต้นจากปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับคนกู้ซื้อบ้านประมาณ 50%

เพราะ “หนี้ครัวเรือน” สูง

เงินที่เหลือในกระเป๋าไม่พอจ่ายค่าผ่อนบ้านต่อเดือนที่สูงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ขยับตัวขึ้น

ในขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ล้วนแต่ขอสินเชื่อแบงก์มาทำโครงการ

เขาขายคอนโดฯหรือบ้านได้หมดโครงการ แต่ลูกค้ากลับกู้ไม่ผ่าน 50%

เขาก็ต้องเอาห้องหรือบ้านกลับมาเร่ขายใหม่

ถ้าจุดคุ้มทุนของโครงการอยู่ที่ 60%

หมายความว่าเขาขาดเงินสดหมุนเวียนประมาณ 10%

พอเริ่มขาดเงิน กลยุทธ์ง่ายที่สุดก็คือ “ดึงเงิน”

อะไรที่ต้องจ่ายก็ยังไม่จ่าย

ขอเครดิตเพิ่ม หรือตีเช็คล่วงหน้าไปไกลกว่าเดิม

คนที่รับเคราะห์ทอดแรก ก็คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง

ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทก็หนักหนาสาหัสจากการประมูลโครงการรัฐ

งบประมาณปีนี้ล่าช้า จนถึงวันนี้ยังไม่ผ่านสภาเลย

กว่าจะเริ่มใช้งบประมาณได้ก็ประมาณเดือนเมษายนเป็นอย่างเร็ว

แต่โครงการที่ก่อสร้างก็ต้องทำต่อไป

เจอรัฐดึงเงินแบบไม่ตั้งใจไประลอกหนึ่ง

มาเจอปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ซ้ำเข้าอีก

ตอนนี้ “ตอยังไม่ผุด” หรอกครับ

แต่มีสัญญาณควันบาง ๆ ให้เห็นแล้ว

ที่น่ากลัวก็คือ ถ้าเริ่มมีการดึงเงิน จ่ายเงินล่าช้า สิ่งที่ตามมาก็คือ “คู่ค้า” จะเริ่มระแวงกัน

ระบบเครดิต ที่เกิดจาก “ความเชื่อมั่น” ระหว่างกัน ประเภทที่เอาของไปก่อน อีก 3 เดือนจ่าย

ระบบนี้จะมีปัญหา

เพราะถ้ามีใครรายใดรายหนึ่งเริ่มมีปัญหา สัญชาตญาณพ่อค้าจะทำงานทันที

ลูกค้าเก่ายังให้เครดิตอยู่

แต่จ่ายช้าเมื่อไรก็จะขอลดระยะเครดิตลง

ในขณะที่ลูกค้าใหม่ ถ้าไม่เคยค้ากันมาก่อน

“เงินสด” อย่างเดียว

ถ้าระบบเครดิตมีปัญหา เศรษฐกิจจะสะดุดทันที เพราะสินค้าที่เคยหมุนเวียนตลาด นอกเหนือจาก “เงินสด” ที่ซื้อของแล้ว

“เครดิต” ที่แปะโป้งกันก่อนก็จะทำให้มีสินค้าในระบบเพิ่มขึ้น

แต่พอระบบเครดิตมีปัญหา การซื้อสินค้าก็จะลดลงทันที

ในฐานะสื่อมวลชนที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายรอบ ตั้งแต่ “ต้มยำกุ้ง” เป็นต้นมา

รู้เลยว่าถ้าเกิดปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจทางการค้าเมื่อไร จะเกิดปรากฏการณ์ “โดมิโน” ขึ้น

สมัยก่อนพอโครงการอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา ก็จะลามไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง และต่อเนื่องไปถึงร้านขายวัสดุก่อสร้าง

จากนั้นก็ลามไปเรื่อย ๆ แบบหยุดไม่อยู่

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้งแล้ว

ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทย

ล่าสุดที่เมืองจีนเศรษฐกิจที่มีปัญหาในวันนี้ก็มีจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ต้องบอกก่อนว่าวันนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยยังไม่มีปัญหานะครับ

ยังแข็งแกร่งอยู่

แต่คงต้องเตือนว่าอย่าปล่อยให้ปัญหาเรื่อง “ดอกเบี้ยสูง” จนคนกู้แบงก์ไม่ผ่านดำรงอยู่ยาวนานเกินไป

เดี๋ยว “งู” มันจะกิน “หาง” ตัวเอง

ตอนนี้ถ้าสื่อเช็กข้อมูลเรื่อง “เช็คเด้ง” ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

หากมีอัตราการเด้งสูงขึ้นผิดปกติ

ก็แสดงว่าระบบเครดิตกำลังมีปัญหาแล้ว