BAM กับ AI

AI
คอลัมน์​ : Markrt-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ช่วงที่ผ่านมาผมไปลงเรียนหลักสูตร ABI (Academy of Business Intelligence) ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม

เป็นคอร์สสั้น ๆ เรียน 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง

วันแรกเป็นการเปิดโลกเรื่อง AI แบบรอบด้าน

วันที่สอง AI สำหรับผู้บริหารวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก

วันที่สาม AI สำหรับฝ่ายขายและการตลาด

วันที่สี่ AI สำหรับการออกแบบและกราฟิก

ADVERTISMENT

วันที่ห้า AI ของฝ่ายบัญชีและการเงิน

วันสุดท้าย เป็น AI สำหรับ HR และงานธุรการต่าง ๆ

ADVERTISMENT

ที่น่าสนใจมากคือ เขาให้เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารระดับสูงที่จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะลงทุนด้าน AI หรือไม่ สามารถพาพนักงานมาเรียนด้วยได้ 1 คน

เปลี่ยนหน้ามาได้เลย ไม่ต้องเป็นคนเดิม

กลยุทธ์นี้ผมว่าโดนใจเจ้าของกิจการมาก

เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่จะใช้ AI เอง แต่เป็นคนตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนและจะจ่ายเงินหรือเปล่า

เขามาเรียนเพื่อได้รู้ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง

ในขณะที่เขาพาผู้บริหาร หรือพนักงานฝ่ายต่าง ๆ มาเรียนด้วย

เรื่องบัญชี ก็พาฝ่ายบัญชีมา

เรื่องออกแบบ ก็พาฝ่ายออกแบบมา ฯลฯ

เปิดโลกทั้งตัวคนตัดสินใจและคนทำงาน

ที่สำคัญคือ คนทำงานรู้ว่าเจ้าของรู้แล้วว่า AI ทำอะไรได้บ้าง

ถ้าสั่งให้ทำแล้ว จะอ้างไม่ได้ว่า AI ทำไม่ได้

เพราะเรียนมาด้วยกัน

นอกจากการสอนใช้ AI แล้ว เขายังเชิญผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้ AI แล้วมาเล่าประสบการณ์ตรง ว่าใช้อะไร เจอปัญหาอะไร และมีกรณีศึกษาอะไรที่เล่นจริง-เจ็บจริงมาแล้วบ้าง

เคสหนึ่งที่ผมชอบมาก เป็นเรื่อง BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์

ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ ผู้บริหารของ BAM บอกว่า วิธีคิดเรื่อง AI ของเขาคือ ต้องง่าย ผลกระทบสูง

แต่กระทบกับคนทำงานน้อย

คำว่า “ต้องง่าย” ของเขาคือ ลูกค้าต้องใช้งานง่าย

แต่รู้สึก “ว้าว”

…ผลกระทบสูง

ส่วนเรื่องกระทบคนทำงานน้อย คงหมายถึงว่าไม่ใช่เริ่มต้นใช้ AI ก็ลดคนเลย

หรือคนทำงานต้องทำงานหนักขึ้น หรือต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานมาก

เขานำ AI มาใช้กับการสร้างจินตนาการให้ลูกค้าครับ

ธุรกิจของ BAM คือขายอสังหาริมทรัพย์มือสอง

ราคาจะถูก แต่สภาพจะค่อนข้างโทรม

สมมุติว่าบ้านเดี่ยวมือสองราคา 3 ล้านบาท

ทำเลดีมาก ราคาน่าสนใจ…

แต่สภาพบ้านโทรมเหลือเกิน

ดูแล้วไม่น่าซื้อ

“ธนกร” เอา AI เรื่องการออกแบบมาใช้สร้าง “จินตนาการ”

สมมุติว่าเราเลือกทรัพย์สินที่รอขายที่ราคาและทำเลน่าสนใจ

บนหน้าจอจะมีภาพของบ้านหลังนี้หลาย ๆ มุม และห้องต่าง ๆ อย่างละเอียด

บ้านบางหลังเห็นสภาพแล้วนึกไม่ออกว่าจะปรับปรุงอย่างไร

ตรงนี้ล่ะครับที่เขานำ AI มาใช้

แค่กด “ออกแบบบ้านด้วยตัวเองฟรี” บนหน้าจอ

เขาจะมีช่องให้เลือกรูปภาพของบ้านหลังนี้ที่ต้องการให้ AI ออกแบบให้

เช่น หน้าบ้าน ห้องนอน ห้องน้ำ ฯลฯ เราเลือกรูปไหนก็ได้

แล้วเลือกว่าจะออกแบบภายนอก หรือภายใน วัสดุแบบไหน สไตล์ไหน

กดปั๊บ

AI จะเนรมิตภาพฝันขึ้นมาทันที

ไม่ชอบสไตล์ลอฟต์ ก็เปลี่ยนเป็นสไตล์ญี่ปุ่นได้

จาก “บ้านมือสอง” โทรม ๆ พอ AI เติมเต็มจินตนาการเข้าไป

กลายเป็นบ้านที่รีโนเวตใหม่สวยงาม

จากบ้านที่ราคา “น่าสนใจ” กลายเป็น “ราคาถูก” ไปเลย

ผมทดลองเล่นมาแล้วครับ

สนุกมาก

ถามว่าหลังจากปล่อยเว็บไซต์ BAM เวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้ AI มาเติมเต็มจินตนาการ ผลเป็นอย่างไรบ้าง

“ธนกร” บอกว่า เพียงแค่ 3 เดือนขายบ้านไปแล้ว 1,000 ล้านบาท

ตามปกติคนที่เข้ามาในเว็บจะติดต่อขอคุย 10.5%

100 คนขอคุยประมาณ 10 คน

แต่พอใช้ AI 100 คนที่เข้ามา

ติดต่อขอคุย 20 คน

เพิ่มขึ้นเท่าตัว

ไม่ต้องถามว่าการลงทุนด้าน AI ของ BAM ครั้งนี้คุ้มหรือไม่

คุ้มยิ่งกว่าคุ้มครับ