
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ยิ่งติดตามข่าว “ปลาหมอคางดำ” ยิ่งตกใจ
ใครจะไปนึกว่าปลาหมอคางดำจะน่ากลัวขนาดนี้
– ออกไข่ทุก 22 วัน
– ตัวผู้จะอมไข่ไว้ ทำให้อัตราการรอดตายของลูกปลาสูงถึง 90%
– ลำไส้ยาวกว่าตัว ปลาพันธุ์นี้จึงกินไม่หยุด และกินทุกอย่างที่ขวางหน้า
– ปรับตัวได้ดีทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย
แต่ใครจะไปนึกว่า “ปลาหมอคางดำ” จะแพ้ “น้ำดำ” ในคลองแสนแสบ 555
การแพร่พันธุ์ของ “ปลานักล่า” ตัวนี้ส่งผลสะเทือนต่อระบบนิเวศของลำคลอง และแม่น้ำในเมืองไทยอย่างรุนแรง
ในมุมธุรกิจ ปลาหมอคางดำมีคุณสมบัติหลายอย่างที่น่าพัฒนาให้เป็น “ปลาเศรษฐกิจ”
เพราะแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก อดทนต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
ถ้าสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้มีเนื้อเยอะ ๆ รสชาติดี
จะเป็นปลาเศรษฐกิจได้เลย
ไม่แปลกที่ “ซี.พี.” จะนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาเพื่อทำวิจัยในปี 2553
ก่อนที่จะล้มเลิกการวิจัยไปในต้นปี 2554 เพราะปลาที่นำเข้าตายไปเยอะมาก
เขาบอกว่าได้แจ้งเรื่องนี้กับกรมประมงไป และมีการฝังกลบเรียบร้อย
แต่ทางกรมประมงบอกว่าไม่มีหลักฐานเรื่องนี้เลย
เรื่องนี้จึงเป็น “ปริศนาธรรม” ที่สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของ ซี.พี.สูงมาก
ถ้าไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดและโปร่งใส
“ความเชื่อ” นี้ก็จะกระจายไปทั่วสังคมไทย
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงควรตั้งคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้
เพราะปัญหาปลาหมอคางดำกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับวาระแห่งชาติแล้วในวันนี้
ถ้าผลออกมาว่า ซี.พี.เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซี.พี.ก็ต้องรับผิดชอบ
แต่หากผลการสอบสวนยืนยันว่า ซี.พี.ไม่เกี่ยว
ก็จะช่วยล้างมลทินให้กับ ซี.พี.
เรื่องนี้ไม่ซับซ้อน แค่ทำทุกอย่างให้ตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราคงต้องมองไปข้างหน้า
รัฐบาลจะแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ได้อย่างไร
ตอนนี้แผนระยะยาว คือ การส่งปลาหมอคางดำที่ตัดต่อพันธุกรรมให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในลำน้ำ ให้ลูกออกมาเป็นหมัน
แพร่พันธุ์ต่อไม่ได้
ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท
และส่งปลากะพงยักษ์ “นักล่า” ที่ตัวใหญ่กว่าลงไปจัดการเจ้าปลาหมอคางดำ
แต่อีกวิธีการหนึ่ง คือ การคิดแบบสร้างสรรค์ว่าจะนำปลา หมอคางดำมาเป็นวัตถุดิบทำอะไรได้บ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ย หมักเป็นปลาร้า
หรือรณรงค์ให้คนกินปลาหมอคางดำให้เป็นวาระแห่งชาติ
ทำให้ “ปัญหา” เป็น “เรื่องสนุก” ไปเลย
ผมเชื่อว่าคนไทยมีไอเดียดี ๆ เรื่องการกินเยอะมาก
แม้เจ้าปลาหมอพันธุ์นี้รสชาติจะไม่อร่อยมาก
แต่ทำดี ๆ ก็น่าจะอร่อยได้
โลกนี้ไม่มีอะไรที่ไร้ค่า
นาน ๆ จะมีโปรตีนราคาถูกแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย
รัฐบาลจะเล่นใหญ่แบบให้เชฟดัง ๆ มาคิดเมนูปลาหมอคางดำ
ให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารมาคิดต่อ จะทำเป็นปลากระป๋องได้ไหม เป็นขนมอบกรอบได้หรือเปล่า ฯลฯ
หรือคิดเครื่องอบกรอบปลาหมอคางดำขึ้นมา
กระทรวงพาณิชย์อาจแนะนำชาวบ้านให้ทำเมนูง่าย ๆ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาป่น ฯลฯ
ช่วยประสานห้างหรือร้านค้าต่าง ๆ ในการกระจายสินค้า
จัดแข่งขันเมนูเด็ดทุกจังหวัดที่ปลาหมอคางดำระบาด
แค่คิดก็สนุกแล้วครับ
เราสามารถเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา
แต่สนุกได้
และหากทำดี ๆ ก็อาจเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป