“ตราชั่ง” แพง

kaokai
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

และแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล

ตามคาด

ครั้งนี้พรรคก้าวไกลพยายามสู้เต็มที่ทุกรูปแบบ

แถลงข่าวหลายครั้งเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้เหตุผลในการต่อสู้คดี

มีคลิปสรุปสั้น ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ดึง อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษา กกต. ที่เป็นโจทก์ฟ้องพรรคก้าวไกลมาเป็นพยาน

ADVERTISMENT

รวมทั้งมี คุณอานันท์ ปันยารชุน ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้ประเด็นในมุมของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

แต่สุดท้าย “ผล” ก็มาก่อน “เหตุ”

ADVERTISMENT

ไม่ใช่ “เหตุผล”

คดีนี้เป็นคดีที่คนในทุกวงการทำนายทายทักไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่ายังไงก็ยุบพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน

โดยไม่พูดถึงที่มา-ที่ไป หรือเหตุผลอะไรทั้งสิ้น

จริงไหมครับ ???

555

แม้ว่าการยุบพรรคก้าวไกลไม่ใช่ครั้งแรกของการยุบพรรค

เมืองไทยผ่านการยุบพรรคมานานหลายครั้งแล้ว

ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคอนาคตใหม่

ทุกครั้งก็มี “คำถาม” แบบเดียวกัน

และทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกมองจากนานาชาติด้วยสายตาไม่เชื่อมั่น

ในอดีต การตัดสินคดีการเมืองที่มีการล้อเลียนมากที่สุด คือ คดีคุณสมัคร สุนทรเวช ทำ “กับข้าว” ในรายการโทรทัศน์

ฮือฮามาก

เป็น “เรื่องโจ๊ก” ในแวดวงนักกฎหมายต่างชาติ

และ “ราคา” ที่ต้องจ่าย ก็คือ ความเชื่อมั่นต่อกฎหมายไทย

มีการเจรจาซื้อกิจการแห่งหนึ่งหลังคดีคุณสมัคร

นักลงทุนต่างชาติจากตะวันออกกลางสนใจมาก

ต่อรองราคากันเรียบร้อยแล้ว

แต่ติดอยู่เรื่องเดียว คือ ในกรณีที่มีปัญหา เขาขอยึดกฎหมายสิงคโปร์เป็นหลัก

ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย

สุดท้ายดีลนี้ก็ไม่สำเร็จเพราะนักลงทุนไทยไม่ยอม

กรณีของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ที่แรงที่สุด คือ การแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยจากสหรัฐอเมริกา อียู และอังกฤษ

สหรัฐอเมริกาแรงสุด เพราะใช้ระดับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเป็นคนแถลงเรื่องนี้

บางคนอาจจะมองว่าไทยเป็นเอกราช ประเทศอื่นมายุ่มย่ามกับกระบวนการยุติธรรมของไทยถือเป็นการเสียมารยาททางการทูต

แต่ลองนึกอีกมุม “ทูต” ของประเทศยักษ์ใหญ่ที่รู้ “มารยาท” เป็นอย่างดี ยังแสดงท่าทีแบบนี้

มันหมายความว่าอย่างไร

และ “ราคา” ที่เมืองไทยต้องจ่ายสูงขนาดไหนกับการตัดสินคดีครั้งนี้

วันที่ 7 สิงหาคมที่ตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล คือ “วันรพี”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์คือ “บิดาแห่งกฎหมายไทย”

ท่านเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ตั้งใจเรียนเรื่องกฎหมายเพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของไทย

เพราะสมัยนั้นต่างชาติไม่ยอมขึ้นศาลไทย

มีการตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีของคนในชาติตัวเอง

ทรงวางนโยบายให้ศาลสามารถตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของ “ฝ่ายปกครอง” ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับอารยประเทศ

ทำให้ “ศาล” กลายเป็น “ศาล”

จนในที่สุดต่างชาติก็ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย

ผมไม่รู้ว่าผลจากคดีนี้จะมีผลต่อการลงทุนของตะวันตกที่คุณเศรษฐา ทวีสิน ไปเจรจาหรือไม่

เพราะผมจำได้ว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลนี้คนหนึ่งเคยบอกผมว่า เมืองไทยมีปัญหาเรื่องนี้สูงมาก

เป็นความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุน