คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
วันก่อนมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
เขาอยากให้วิจารณ์บริษัทของเขาแบบตรงไปตรงมา
ถ้ามองในมุมธุรกิจ การวิจารณ์ใครแบบตรงไปตรงมา คือการทำการค้าที่มีแต่ “ขาดทุน”
“คำชม” นั้นเป็นคำพูดที่ไพเราะ พูดไปก็มีแต่ “กำไร”
แต่ “คำติ” นั้นไม่ค่อยเสนาะหู
พูดไปมีโอกาสสูงมากที่จะ “ขาดทุน”
และถ้าเลวร้ายมากอาจถึงขั้นขาดทุนยับเยิน
เพราะไม่ค่อยมีคนชอบ “คำติ” หรอกครับ
ส่วนใหญ่ชอบ “คำชม”
ไม่แปลกที่คนใหญ่คนโตพอมีตำแหน่งหรืออำนาจมักจะเสียคน
เพราะคนรอบข้างไม่กล้าพูดตรง ๆ
เลือกเล่าแต่เรื่องดี ๆ
เรื่องไม่ดีไม่เล่าให้เจ้านายฟัง
กลัวเจ้านายไม่โปรด
ตอนที่ผู้บริหารท่านนั้นบอกว่าอยากให้วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา
ผมก็คิดอยู่นานพอสมควร
เราควรจะค้าขายแบบขาดทุนดีไหม ?
ลองแย็บไปนิด ๆ เขาก็มีท่าทีเปิดรับดี
หมัดตรง ก็ยังรับได้
โอเค งั้นปล่อยหมัดฮุกเลยก็แล้วกัน
ถือเป็นการวิจารณ์แบบกัลยาณมิตร
บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ในเชิงธุรกิจไม่มีปัญหาอะไร
เป็นบริษัทมืออาชีพ ระบบดี กำไรดี เติบโตดี
แต่นั่นคือมุมธุรกิจ
ปัญหาใหญ่ของเขาเป็นเรื่องภาพลักษณ์องค์กร
เพราะความเป็นยักษ์ใหญ่ทำให้คนมองว่า “กินรวบ”
ถ้าอธิบายแบบไม่มีอคติ อาจเป็นเพราะเจ้าของเป็นคนกระหายโอกาส
เห็น “โอกาส” เมื่อไรก็กระโดดลงไปทำทันที
ไม่ได้คิดว่าจะกระทบกระเทือนรายเล็กหรือเปล่า
ในมุมของตลาดเสรี ที่ใครจะลงมาแข่งก็ได้
เขาก็ไม่ผิด
แต่บังเอิญเขาใหญ่เหลือเกิน และมีตาทิพย์เห็นโอกาสอยู่เป็นประจำ
นี่ก็น่าทำ
โน่นก็น่าทำ
คนที่ได้รับผลกระทบจึงมีจำนวนมาก และพอบอกต่อไปเรื่อย ๆ ภาพลักษณ์องค์กรก็เสียหาย
ผมเสนอเขาเล่น ๆ ว่า ต่อไป KPI ขององค์กรอาจต้องเพิ่มมิติมากกว่าเดิม
อย่ามองแค่ในมุมธุรกิจ
หรือตัวเลขกำไรอย่างไร
ต้องมองแบบ 360 องศา
คิดในมิติทางสังคม และภาพลักษณ์องค์กรด้วย
ต้องคิดแบบ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่บอกว่า “โอกาส” ที่เข้ามานั้นเหมือนลูกเบสบอล
เราไม่จำเป็นต้องตีทุกลูกที่ผ่านหน้าไป
แต่เลือกตีลูกที่เรามั่นใจจริง ๆ ไม่กี่ลูกก็พอ
“จะทำอะไร” ไม่สำคัญเท่ากับ “ไม่ควรทำอะไร”
หรือลองคิดตั้งเป้าหมายขององค์กรใหม่
ภายในเวลา 2 ปี เราจะทำบริษัทให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทที่นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด
เป้าหมายแบบนี้จะกำหนดทิศทางบริษัทในรูปแบบใหม่ทันที
ผู้บริหารจะคิดแค่ “กำไร” ไม่ได้
เพราะ “กำไร” หรือความยิ่งใหญ่ไม่ได้เป็นเสน่ห์ที่จูงใจคนรุ่นใหม่ให้อยากมาทำงานด้วย
“ภาพลักษณ์” ขององค์กรต่างหากที่เป็น “แม่เหล็ก”
เป็นบริษัทที่เวลาเพื่อนถามว่าทำงานที่ไหน
เขาจะยืดอกตอบแบบเท่ ๆ ว่าทำงานที่นี่
ถ้าเรามีเป้าหมายแบบนี้
การตัดสินใจว่า “จะทำอะไร”
จะเปลี่ยนไปจากเดิม