คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ตั้งแต่กลางปีมีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะให้ธนาคารพาณิชย์และค่ายมือถือมาร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะหลอกลวงคนได้ด้วย 2 เครื่องมือ
คือ ใช้โทรศัพท์มือถือ โทร.มาหลอก และใช้บัญชีม้าในการรับโอนเงิน
สิงคโปร์ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์และค่ายมือถือใส่ใจและรับผิดชอบผู้บริโภคมากกว่านี้
เขามีแผนตอนกลางปี
วันนี้มีข่าวแล้วว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายบังคับใช้ วันที่ 16 ธันวาคมนี้
รวดเร็วมาก
รัฐบาลสิงคโปร์มองว่าการที่แบงก์ไม่แจ้งเตือนธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือบริษัทมือถือไม่ใช้ตัวกรองสแปม SMS ถือว่าไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค
เพราะด้วยเทคโนโลยีวันนี้ หรือระบบ AI สามารถทำได้
กฎหมายใหม่นี้กำหนดหน้าที่ที่ชัดเจน
แบงก์จะต้องส่งการแจ้งเตือนธุรกรรมขาออกให้กับลูกค้า ตรวจสอบธุรกรรมที่น่าสงสัย และให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับ Phishing Scam
ส่วนค่ายมือถือต้องใช้ตัวกรองสแปม SMS บล็อก SMS ที่น่าสงสัย และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
ธนาคารยังต้องดำเนินการตรวจสอบการฉ้อโกงแบบเรียลไทม์ด้วย
ต้องตรวจสอบว่าบัญชีของลูกค้ากำลังถูกถอนเงินจำนวนมากอย่างรวดเร็วหรือไม่
เพราะความผิดปกติ อย่างเช่น บัญชีของลูกค้าที่มีเงิน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป ถูกโอนเงินออกมากกว่าครึ่งหนึ่งภายใน 24 ชั่วโมง
การทยอยโอนแบบต่อเนื่องเช่นนี้ แบงก์ต้องระงับธุรกรรมจนกว่าจะสามารถติดต่อลูกค้าได้
หรือส่งการแจ้งเตือนไปยังลูกค้า พร้อมกับระงับธุรกรรมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
ในข่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า แบงก์และค่ายมือถือต้องรับผิดชอบความเสียหายแค่ไหน อย่างไรบ้าง
แต่ข่าวก่อนหน้านี้เคยระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะให้แบงก์และค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบ 100%
แรงมาก
ก่อนหน้านี้เคยมีผู้บริหารใหญ่คนหนึ่งที่เคยบริหารค่ายมือถือและเป็นที่ปรึกษาบริษัทใหญ่เคยบอกผมว่า เรื่องนี้ถ้าแบงก์กับค่ายมือถือเอาจริง
แก้ไขปัญหาได้แน่นอน
เพราะลักษณะของ “บัญชีม้า” ค่อนข้างชัดเจน เช่น มีเงินโอนเข้าก้อนใหญ่และโอนออกทันทีอย่างรวดเร็ว
บัญชีไหนมีลักษณะ “บัญชีม้า” แบงก์ต้องสร้างระบบตรวจสอบมากขึ้น
หรือมีบทลงโทษว่า แบงก์ไหนมี “บัญชีม้า” เกิดขึ้น จะต้องโดนลงโทษอย่างไรบ้าง
ถามว่าใครควบคุมแบงก์พาณิชย์
คำตอบ คือ แบงก์ชาติ
แต่เราไม่เห็นแบงก์ชาติออกกฎระเบียบอะไรที่ควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย
เช่นเดียวกับค่ายมือถือ
เพราะลักษณะของ “ซิม” ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ค่อนข้างชัดเจน เช่น โทร.ออกอย่างเดียว ไม่เคยรับสาย โทร.เข้า หรือ โทร.มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้ โทร.จากในประเทศ
ถ้า กสทช. กล้าออกบทลงโทษ
ผมเชื่อว่าแบงก์และบริษัทมือถือจะลงทุน หรือเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มากขึ้น
วันนี้ความเสียหายที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นหลักหมื่นล้านบาทต่อปี
จากข้อมูลของสภาพัฒน์เมื่อปีที่แล้วระบุว่า คนไทยต้องรับโทรศัพท์ หรือ SMS จากมิจฉาชีพสูงถึง 79 ล้านครั้ง
มากที่สุดในเอเชีย
ผมเชื่อว่าทุกคนในเมืองไทยต้องเคยรับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
แม้แต่นายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็คงโดนเหมือนกัน
เราปล่อยให้ปัญหานี้ขยายวงไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดจัดการอย่างจริงจัง
ใช้วิธีการวิ่งไล่ตาม มากกว่าป้องกัน
แต่การออกกฎหมายของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีมาก
เพราะเลือกการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง
รัฐบาลไทยและแบงก์ชาติน่าจะเอาจริงเอาจังแบบนี้บ้าง