Market-think : ตลาดรถปั่นป่วน

EV
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

หลังจากรถอีวีของจีนเริ่มบุกตลาดเมืองไทยอย่างจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ภูมิทัศน์ของสมรภูมิรถยนต์ก็เริ่มเปลี่ยนไป

จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับการทำตลาดของรถยนต์น้ำมันญี่ปุ่นมานาน

วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ในอดีต ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่น้อยมาก

ออปชั่นต่าง ๆ ก็ให้ไม่เต็มที่

ADVERTISMENT

ที่สำคัญทุกค่ายจะค่อนข้างระมัดระวังที่จะใช้กลยุทธ์ตัดราคา

เพราะกลัวตลาดพัง

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะตลาดรถมือสอง

“รถญี่ปุ่น” โดยเฉพาะค่ายใหญ่อย่างโตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ ฯลฯ ราคารถมือสองจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ราคาลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

รถยุโรปอาจจะลดแรงกว่า

ส่วนหนึ่งเพราะอะไหล่รถยุโรปแพงกว่า

แต่ทันทีที่ค่ายรถอีวีจากจีนบุกตลาดเมืองไทย

เริ่มจากนำเข้าจนมาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทย

กลยุทธ์การตลาดที่เขาใช้แตกต่างจากกลยุทธ์เดิม ๆ ที่คนไทยคุ้นชิน

นั่นคือ ใช้กลยุทธ์ตัดราคาแบบไม่สนภาพลักษณ์อะไรทั้งสิ้น

ไม่ใช้ลดราคาทีละนิดนะครับ

ลดกันทีเป็นแสน

รถรุ่นเดียวกันเมื่อวานราคา 900,000 บาท

วันนี้ลดราคาเหลือ 7 หรือ 800,000 บาท

หั่นราคาแบบไม่สนใจความรู้สึกของลูกค้าเก่าเลย

ผมเพิ่งเจอนักวิชาการคนหนึ่ง เขากำลังทำวิจัยเรื่องตลาดรถยนต์อีวีกับรถยนต์น้ำมัน

ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารค่ายรถทั้งจีนและญี่ปุ่น

มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้บริหารค่ายรถจีนที่กำลังเปิดโรงงานประกอบในเมืองไทย

รู้ไหมครับว่าเขากลัวอะไร

ไม่ได้กลัวคู่แข่งที่เป็นค่ายรถยนต์จีนหรือญี่ปุ่นนะครับ

แต่เขากลัวบริษัทแม่ที่เมืองจีน

กลัวว่าจะส่งรถที่ประกอบในเมืองจีนเข้ามาตัดราคารถที่ประกอบในเมืองไทย

บริษัทแม่ตัดราคาบริษัทลูก

ผมถามย้ำ 2 ครั้งว่าเป็นเรื่องจริงหรือ

เขาก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง

ครับ หลักคิดทางธุรกิจที่ค่ายรถยนต์จีนเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ไปเรื่อย ๆ

ผลกระทบอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ระบบสินเชื่อรถยนต์

ตอนนี้แบงก์ค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยกู้ให้กับรถยนต์อีวี

เพราะในอดีตตอนที่รถน้ำมันครองตลาด ค่ายรถญี่ปุ่นไม่ค่อยเล่นสงครามราคา

ทำให้ตลาดรถมือสองมีเสถียรภาพ

แต่รถอีวีจีนเข้ามาด้วยกลยุทธ์ตัดราคา

เมื่อ “รถมือหนึ่ง” เล่นกันขนาดนี้

ตลาด “รถมือสอง” จะเหลืออะไร

สมมุติว่ารถมือหนึ่งรุ่นนี้เมื่อต้นปีขาย 1 ล้านบาท

แบงก์อาจจะปล่อยกู้ 800,000 บาท คนซื้อออก 200,000 บาท

แต่พอสิ้นปี ราคารถใหม่ลดเหลือ 800,000 บาท

รถคันเดิมที่แบงก์ปล่อยกู้ไปและมีอายุการใช้งานไปแล้ว 1 ปี

คิดว่า “รถมือสอง” คันนี้ราคาจะเหลือเท่าไรครับ

เมื่อรถมือหนึ่งยังเหลือแค่ 800,000 บาท

“รถมือสอง” 1 ปี น่าจะเหลือแค่ 600,000 บาท

ต่ำกว่ามูลหนี้ที่เหลืออยู่

นี่คือ ปัญหาใหญ่ของแบงก์เจ้าหนี้

เพราะถ้าลูกหนี้คนไหนคืนรถ โดยเป็นลูกหนี้ที่ไม่เคยค้างชำระ

เขาจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

แต่แบงก์จะรับเละเพราะต้องเอารถคันนี้ไปขายต่อ

ซึ่งสถานการณ์ธุรกิจรถยนต์อีวีมือสองในเมืองไทยตอนนี้ย่ำแย่มาก

แบงก์มีรถจอดทิ้งไม่รู้เท่าไร

ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหา ปัญหาของธุรกิจรถยนต์ก็จะเหมือนบ้าน

คือ แบงก์จะแก้ปัญหาด้วยการไม่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์

เพราะแบงก์เขาอยากได้เงินต้นและดอกเบี้ย

ไม่ได้อยากได้ “รถมือสอง” เพิ่ม