ไทบ้าน “พีที”

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

ตอนที่ผมสัมภาษณ์คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ซีอีโอของ “พีทีจี” เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน “พีที” ที่กำลังมาแรง

ผมนึกถึงหนังไทยเรื่อง “ไทบ้าน เดอะ ซีรี่ส์” ขึ้นมาทันที

คนกรุงส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จักหนัง “ไทบ้าน”

เหมือนกับที่ไม่คุ้นกับปั๊มน้ำมัน “พีที”

แต่หนัง “ไทบ้าน เดอะ ซีรี่ส์” ภาคแรก

ทำรายได้ทั่วประเทศประมาณ 40 ล้านบาท

ทำภาค 2.1 ทำรายได้ประมาณ 80 ล้านบาท

ทั้งที่ใช้ทุนสร้างน้อยมาก

ภาคแรกแค่ 2 ล้าน ภาคที่สองน่าจะประมาณ 6-8 ล้านบาท

กลยุทธ์ของเขาคือ “ป่าล้อมเมือง”

บุกที่ภาคอีสานก่อนจะเข้าเมืองกรุง

เหมือนกับปั๊มพีทีเลยครับ

เขาบุกตลาดต่างจังหวัดบนถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างอำเภอก่อน แล้วค่อยบุกขึ้นถนนสายหลัก

ภาคที่มีปั๊มพีทีมากที่สุดคือ ภาคอีสาน

แค่บุรีรัมย์จังหวัดเดียวมีสาขาถึง 27 แห่ง

นอกจากใช้กลยุทธ์เดียวกันแล้ว “พีทีจี” และ “ไทบ้าน” ยังเหมือนกันอีกเรื่องหนึ่ง คือ ฝันใหญ่และฝันไกล

ทีมงาน “ไทบ้าน” เขาเคยทำแผนผัง “จักรวาลไทบ้าน”

เลียนแบบ “จักรวาลมาร์เวล”

บอกเลยว่า จะทำหนังเรื่องต่อไปอย่างไร ตัวละครจากหนังเรื่องหนึ่งจะมาเป็นพระเอกของหนังอีกเรื่องหนึ่ง

เลียนแบบ “มาร์เวล”

“พิทักษ์” ก็เช่นกัน

เขาซุ่มเปิดสถานีน้ำมันแบบ “ป่าล้อมเมือง” ไปเรื่อย ๆ

แต่ฝันของเขายิ่งใหญ่มาก

ปีนี้ “พีที” จะมีสถานีน้ำมันมากที่สุดในเมืองไทย

มากกว่า “ปตท.”

ขนาดของปั๊มอาจเล็กกว่า

แต่จำนวนเยอะกว่า

นั่นคือ “ความฝัน” ของเขา

ปีนี้น่าจะประมาณ 2,000 กว่าสาขา

แต่เป้าหมายของเขา คือ 4,000 สาขา

หรืออีกประมาณ 1 เท่าตัว

ภายในปี 2565

และยอดขายน้ำมันผ่านปั๊มน้ำมันต้องเป็นที่ 1

ฝันใหญ่มาก

“พิทักษ์” บอกว่า ถ้าเราทำธุรกิจแข่งกับคนที่ตัวใหญ่กว่า

ต้องใช้กลยุทธ์ “มวยรอง”

และ “แตกต่างอย่างสิ้นเชิง”

ถ้าคิดและทำเหมือน “ยักษ์ใหญ่” เมื่อไร

เราแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น

ต้อง “แตกต่างอย่างสิ้นเชิง”

“ปตท.” บุกสร้างปั๊มขนาดใหญ่บนถนนสายหลัก

“พีที” ใช้กลยุทธ์เช่าปั๊มเก่าเป็นปั๊มขนาดเล็กหรือกลางบนถนนสายรอง

“ปตท.” ใช้วิธีการ “เอาต์ซอร์ซ” รถขนส่งน้ำมัน

“พีที” มีระบบโลจิสติกส์เป็นของตัวเอง

มีคลังน้ำมันกระจายไปทั่วประเทศและขบวนรถน้ำมันมากที่สุดในเมืองไทย

ใช้กลยุทธ์ “ครบวงจร” เพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำสุด

วันนั้นมีคำถามว่า ถ้ามีนักธุรกิจที่กำลังลงทุนใหม่มาขอคำปรึกษา คุณพิทักษ์จะให้คำแนะนำอย่างไร

เขามีคำแนะนำ 2 ข้อครับ

1.อย่ามองโลกสวย

“เพราะคนเราชอบคิดอะไรเข้าข้างตัวเอง”

อย่ามัวแต่คิดว่าธุรกิจที่ทำมีจุดเด่นอะไร หรือปัจจัยที่เราเหนือกว่าคู่แข่ง

แต่ต้องคิดข้อ 2 มาก ๆ

2.อะไรทำให้เราเจ๊งได้บ้าง

คิดถึง “จุดอ่อน” เยอะ ๆ

ข้อแนะนำที่ผมชอบที่สุด คือ ให้เขียนปัญหาหรือจุดอ่อนของเราให้มากที่สุด

“อย่างน้อย 20 ข้อ”

ความลึกซึ้งของคำแนะนำนี้ คือ ส่วนใหญ่เราจะเขียนจุดอ่อนหรือปัญหาของเราไม่กี่ข้อ

แต่การกำหนดให้เขียนอย่างต่ำ 20 ข้อ คือ การบังคับให้เรา “คิดละเอียด”

คิดให้รอบคอบ ว่าเรามีปัญหาหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง

จากนั้นให้คิดว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

เราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ถ้าคิดหาทางแก้ปัญหาได้

แบบนั้นลุยเลย