มืออาชีพ-ศิลปิน

pated
ยุทธนา บุญอ้อม
คอลัมน์ : Market-think 
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้ผมมีประสบการณ์ตรงเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ครั้งใหม่

นั่นคือ โครงการ Wednesday Song

คอนเสิร์ตวันพุธที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ

ผมตั้งใจทำเป็นคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่ แบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรก เป็นช่วง “เพลย์ลิสต์” คนดัง

เป็นวิธีคิดง่าย ๆ คือเชิญคนดัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในวงการเพลง เลือกเพลงที่ชอบมา 5 เพลง

ADVERTISMENT

บนเวทีก็จะเป็นรูปแบบการสัมภาษณ์ “คนดัง” ว่าทำไมเลือกเพลงนี้ ชอบเพราะอะไร หรือเพลงนี้มีความหมายอะไรกับชีวิต

เป็น “บทเพลงที่มีเรื่องเล่า”

ADVERTISMENT

ตอนที่คิดโจทย์นี้ขึ้นมา คิดว่าคนดูจะได้ฟังเพลงที่ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเพลงอะไร

และเพลงที่ “คนดัง” ในวงการเพลงเลือกมา ต้องเป็นเพลงที่เพราะ ๆ

เล่นปั๊บต้องกรี๊ด

ช่วงที่สอง จะเป็นคอนเสิร์ตตามปกติ

เคยเล่นในผับแบบไหนก็มาเล่นที่นี่

แต่เล่นในโรงละครที่นั่งสบาย ระบบเสียงดี ๆ ขนาดก็กำลังดี ประมาณ 1,000 ที่นั่ง

และเลือกช่วงเวลาตอน 19.30 น. จบ 21.10 น.

100 นาทีแห่งความสุข

จับกลุ่มเป้าหมาย คนที่ไม่ชอบไปผับที่เสียงดัง ๆ รอจนดึกกว่าจะเจอศิลปิน หรือไม่ชอบไปคอนเสิร์ตที่ยาวนานและพิธีกรรมเยอะ

ผมคิด Wednesday Song แบบง่าย ๆ แค่นี้เอง

เป็นคอนเสิร์ตแบบเรียบง่าย ไม่เน้นระบบไฟอลังการ และสคริปต์เป๊ะ ๆ แบบคอนเสิร์ตใหญ่

แต่..

โลกแห่งความจริง ไม่ตรงกับโลกแห่งความฝัน

สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ “คนดัง” ที่เชิญมาเป็นคนเลือกเพลย์ลิสต์ และศิลปินแต่ละวง

พอได้พื้นที่อิสระและรู้สึกสนุก

เขาจัดเต็มมาก

Wednesday Song ผ่านมา 2 ครั้ง

ครั้งแรก เพลย์ลิสต์ ของ “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญอ้อม

ครั้งที่สอง “กบ บิ๊กแอส”

“ป๋าเต็ด” เป็น ดีเจ. “กบ” เป็นมือกลอง และนักแต่งเพลง

แต่ทั้งคู่เหมือนกันเรื่องหนึ่งก็คือ เขาเป็น “โชว์ ไดเร็กเตอร์” ของคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ ในเมืองไทย

วิธีคิดของเขาในการเลือกเพลงจึงคล้ายกับการทำโชว์

เลือกเพลงและเรียงเพลงแบบมี “เรื่องเล่า”

เพลงที่เลือกมา บางเพลงก็ไม่ใช่เพลงที่ทุกคนร้องได้

แต่ทุกเพลงมี “ความหมาย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความหมาย” กับชีวิตของเขา

ผ่านมา 2 ครั้ง กลายเป็นว่า คนดูชอบช่วงนี้มาก

ที่สำคัญ เขาชอบ “เรื่องเล่า” ของเพลง มากกว่า “เพลง”

ทั้ง “ป๋าเต็ด” และ “กบ” เตรียมเพลงและเรื่องเล่าแบบเอาจริงเอาจัง

ไม่ใช่แบบที่ผมคิดไว้ว่าเป็นการคุยกันและเลือกเพลงแบบง่าย ๆ

ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งนั้นไม่มีทางเป็นจริงสำหรับ “มืออาชีพ”

ล่าสุด ผมคุยกับ “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล ที่จะเป็น “คนดัง” เพลย์ลิสต์คนที่ 4

ตอนนี้ยังเล่าไม่ได้ แต่บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา

บอก 5 ทำ 100 ตามสไตล์ “พี่เก้ง” เจ้าของ “วิชาทำเกิน”

หรือตอนช่วงคอนเสิร์ตของศิลปิน

เราคิดว่าเล่นแบบง่าย ๆ ขอแค่ 1 ชั่วโมงพอ

แต่พอ “แสตมป์” และ “โปเตโต้” เจอบรรยากาศแบบโรงละครที่มีคนตั้งใจดูเขาอย่างจริงจัง

เขาจัดเต็มมาก

ผมรู้สึกเลยว่าศิลปินทุกคนชอบบรรยากาศแบบนี้

จาก 1 ชั่วโมงก็มีแถม

แถมคนละครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง แล้วแต่ความปรานีของศิลปิน

หลังจากทำ Wednesday Song มา 2 ครั้ง ผมได้ “ความรู้ใหม่” ของการทำงาน

ถ้าเราทำงานกับ “มืออาชีพ” หรือ “ศิลปิน”

อย่าไปควบคุมมาก

เปิดพื้นที่อิสระให้กับเขา

ทำให้เขามีความสุข

แล้วงานจะออกมาดี