คน 2 โลก

จำได้ว่าวันที่สัมภาษณ์คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอของ “เอไอเอส”

เขาพูดถึง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่”

เจเนอเรชั่นที่ต่างกัน มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ทำงาน หรือวิธีคิด

“สมชัย” บอกว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้

จับจด หรือไม่ลุยงาน

ทุกคนทำงานหนักถ้าชอบและสนุกกับงาน

นี่คือ เรื่องที่ “คนรุ่นเก่า” ต้องเข้าใจ “คนรุ่นใหม่”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ความจงรักภักดีกับองค์กร

อย่าหวังเรื่องนี้มากกับ “คนรุ่นใหม่”

ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เคยทำวิจัยแล้วพบว่า คน Gen X ทำงานเฉลี่ยแห่งละ 5 ปี 5 เดือน

แต่คน Gen Y อายุงานเฉลี่ยแค่ 2 ปี 5 เดือน

ระยะเวลาเดียวกัน คน Gen X ทำงานที่เดิมอยู่

แต่คน Gen Y เปลี่ยนงานไปแล้ว 2 ที่

ที่เจ็บปวดก็คือ การเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น

เขาเปรียบเทียบเงินเดือนของเด็ก Gen Y วุฒิปริญญาตรีที่มีอายุงาน 5 ปี

คนที่ไม่ย้ายงานเลย มีเงินเดือนเฉลี่ย 17,602 บาท

คนที่เปลี่ยนงาน 1-2 แห่ง มีเงินเดือนเฉลี่ย 20,120 บาท

คนที่เปลี่ยนงานเกิน 2 ครั้ง มีเงินเดือนเฉลี่ย 22,044 บาท

เกิน 2 ครั้งใน 5 ปี ก็หมายความว่า ทำงานแห่งละไม่ถึง 2 ปี

ถามว่าแบบนี้เด็กรุ่นใหม่จะไม่เปลี่ยนงานหรือครับ

เพราะข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนงานนำไปสู่รายได้ที่สูงขึ้น

แต่ผมยังเชื่อว่ากราฟแบบนี้ จะใช้ได้ในช่วงต้นเท่านั้น

เพราะคนที่เปลี่ยนงานบ่อยเกินไป ทำงานแต่ละที่ไม่เกิน 2 ปี จะไม่ค่อยรู้งานจริง

ดูจากการผ่านงานในใบสมัคร เหมือนมี “ประสบการณ์”

แต่เป็น “ประสบการณ์” ที่ไม่รู้จริง

เพราะกว่าจะรู้งานที่ทำอยู่จริง ๆ ผมเชื่อว่าต้องใช้เวลา 2 ปีขึ้นไป

เมื่อไม่รู้จริง พอถึงจุดหนึ่งที่ต้องขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารสูง ๆ

เขาจะมีปัญหา

แต่คนที่รู้จริงในแต่ละตำแหน่งงาน พอถึงจุดหนึ่งเขาจะก้าวกระโดดทันที

และแซงคนกลุ่มแรกในช่วงกลาง ๆ

เรื่องนี้เป็น “ความเชื่อ” ส่วนตัวนะครับ

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องเวลาทำงาน

คนรุ่นเก่าจะเคยชินกับการทำงานประจำ แบบต้องเข้าสำนักงานทุกวัน

ต้องเห็นหน้า จึงจะถือว่าทำงาน

มีระบบการตอกบัตรแบบเดิม ๆ

แต่คนรุ่นใหม่จะมองที่ “ผลงาน” มากกว่า

ไม่รู้สึกว่าจะต้องเข้าสำนักงานประจำ

เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

เทคโนโลยีทำให้เราสามารถประสานงานกันได้โดยไม่ต้องเจอตัว

เขาอยู่ร้านกาแฟ แต่ก็โทร.ติดต่อลูกค้าได้

ทำงานเหมือนกัน

โลกยุคใหม่จึงต้องปรับระบบ เพื่อให้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกันได้

ใหม่ทั้งหมดคงไม่ได้

เพราะการทำงานเป็นทีม หากไม่มีความคุ้นเคยกัน คุยกันแบบเห็นหน้ากันบ้าง

ระบบทีมจะไม่คล่องตัว

เพราะ “มนุษย์” ก็คือ “มนุษย์” ที่มีความรู้สึกสำคัญพอ ๆ กับเหตุผล

ในขณะเดียวกัน ถ้าทำแบบเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง

คนรุ่นใหม่ก็ไม่รับ

วันก่อน มีน้องคนหนึ่งบอกว่า เขากำลังพัฒนาแอปตัวหนึ่งสำหรับฝ่าย HR

มีระบบการลงเวลาทำงานแบบใหม่ที่ตอบสนองวิถีของคนรุ่นใหม่

แต่ผู้บริหารรุ่นเก่าก็ยังสามารถตรวจสอบเวลาทำงานและการทำงานจริงได้

หา “ทางสายกลาง” ผ่านทางแอป

น่าสนใจมากครับ