
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระที่ 2 และ 3
ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 365 เสียง
แม้จะยังมีขั้นตอนทางสภาที่ต้องผ่านวุฒิสภาก่อน
แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะผ่านฉลุย
มาตราสำคัญ คือ มาตราที่ 32 ที่มีการปรับปรุงใหม่ เปิดช่องให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้มากขึ้น
จากเดิมที่ล็อกตายแบบห้ามทุกอย่าง
ทำให้เจ้าของสินค้าต้องใช้วิธีการเลี่ยงบาลี เช่น การออกสินค้าน้ำดื่มหรือโซดาที่ใช้แบรนด์เดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เบียร์ลีโอ ก็มีโซดาลีโอ
เบียร์ช้าง ก็มีน้ำดื่มช้าง
เบียร์คาราบาวก็เช่นกัน ก็มีน้ำดื่มยี่ห้อเดียวกันออกมา
เวลาสินค้าน้ำดื่ม-โซดา โฆษณา คนดูก็รู้ว่าจริง ๆ จะโฆษณาเบียร์
แต่รัฐก็ทำอะไรไม่ได้
เมืองไทยอยู่กันแบบนี้มานานมาก
การปลดล็อกมาตรา 32 ทำให้เมืองไทยอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
ส่วนหนึ่งเพราะกระแสสังคมที่ไม่ได้มองว่า “เหล้า-เบียร์-ไวน์” เป็นอบายมุขที่น่ารังเกียจ
การทำ “คราฟต์เบียร์” รสชาติต่าง ๆ กลายเป็นงานศิลปะของคนที่ชอบดื่มเบียร์
ภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีขึ้น
และยิ่งมีกระแสเรื่องสุราชุมชน หรือการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายเล็ก ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเริ่มพ้นจาก “เงามืด”
มาสู่ “แสงสว่าง” ที่คนยอมรับมากขึ้น
เรื่องการโฆษณานั้นเป็นเรื่องใหญ่ของ “รายย่อย” ที่เพิ่งแจ้งเกิด
เพราะถ้าปิดกั้นไม่ให้โฆษณาเลย
สินค้ายักษ์ใหญ่ที่คนรู้จักดีอยู่แล้วจะได้เปรียบ
รายเล็กไม่มีปัญญาทำน้ำดื่มหรือโซดา เพื่อเลี่ยงบาลีในการโฆษณา
ตอนแรก มีคนเชื่อว่ายักษ์ใหญ่อย่าง “สิงห์-ช้าง” จะใช้บารมีขวางการแก้ไขเรื่องนี้
แต่เห็นมติเอกฉันท์ในสภาแล้วก็รู้เลยว่า 2 ยักษ์ใหญ่วงการน้ำเมาไม่ได้ยุ่งกับเรื่องการแก้ไขมาตรา 32 เลย
ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะการเปิดช่องให้โฆษณา
รายใหญ่ก็ได้เปรียบรายย่อยอยู่แล้ว
เพราะงบประมาณมากกว่ากันเยอะ
แต่การเปิดช่องให้โฆษณาครั้งนี้ คนที่น่าจะดีใจ คือ เบียร์คาราบาวและตะวันแดงของ “คาราบาวแดง”
เพราะเป็นยักษ์ใหญ่เหมือนกัน
ที่ผ่านมาไม่สามารถแทรกเข้าตลาดได้ ส่วนหนึ่งเพราะเจอการปิดตลาดจากยักษ์ใหญ่
จะสังเกตว่าในผับหรือสถานบันเทิงทั้งหลาย
หาเบียร์คาราบาวและตะวันแดงยาก
แต่อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่สามารถโฆษณาได้เต็มที่
สินค้าใหม่ถ้าจะแจ้งเกิดต้องโฆษณา
เหมือนตอนที่บุกเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง”
เขาทุ่มงบฯโฆษณาอย่างหนัก
เคลื่อนทีเดียวคนรู้จักทั้งประเทศ
แต่พอเป็น “เบียร์” กฎหมายเดิมห้ามโฆษณา
ขยับตัวยากมาก
น่าจับตาว่าถ้าการแก้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไร เบียร์คาราบาวและตะวันแดงจะทุ่มงบฯโฆษณาแจ้งเกิดอีกครั้งหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ เบียร์ช้างกับลีโอ คงสกัดกั้นเต็มที่แน่นอน
ส่วนสุราชุมชนหรือคราฟต์เบียร์ทั้งหลาย ผมเชื่อว่าเขาจะใช้ช่องโซเชียลมีเดียโฆษณามากขึ้น
ใช้งบฯน้อยตามแบบ “คนตัวเล็ก”
แต่การทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ ได้ทดลองชิม มีโอกาสจะก่อกระแสฟีเวอร์ได้
เหมือน “รีเจนซี่” ที่บอกต่อกันเรื่อย ๆ
จนกลายเป็นสินค้าที่ขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง
การปลดล็อกมาตรา 32 ครั้งนี้ อาจเป็น “จุดเปลี่ยน” หนึ่งของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่จะยิ่งใหญ่ขึ้น
หรือมียักษ์ “ตัวใหม่” ขึ้นมาแทน
หรือยักษ์ทั้งหลายจะตัวเล็กลง
แต่มีลูกยักษ์เกิดขึ้นอีกหลายตน
น่าสนใจมาก