
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ผู้ใหญ่ในแวดวงธุรกิจเคยพูดถึงเรื่อง “การวัดผล”
เขาบอกว่า “บรรทัดสุดท้าย” ของทุกอย่างไม่เฉพาะในโลกธุรกิจ
การวัดผลจะขึ้นกับสถานการณ์
แต่ละช่วงเวลา “บรรทัดสุดท้าย” ของผลลัพธ์ที่ต้องการจะแตกต่างกัน
บางช่วงเวลา เราต้องการมาร์เก็ตแชร์
ต้นทุนเท่าไร ไม่สนใจ
พร้อมเผาเงินเพื่อมาร์เก็ตแชร์
เหมือนพวกสตาร์ตอัพทั้งหลาย
แต่บางช่วงเวลา เราต้องการ “กำไร”
สถานการณ์แบบนี้ เราต้องคิดถึง “ต้นทุน” มากขึ้น
หรือบางช่วงเวลา “กำไร” ไม่สำคัญเท่ากับ “เงินสด”
แคชโฟลว์กลายเป็นเรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึง
อย่างเช่นช่วงนี้
ยิ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าวิกฤต แบงก์ระมัดระวังการปล่อยกู้มากเท่าไร
“เงินสด” ในมือจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ตัวเลข “กำไร” ในบัญชี ไม่สำคัญเท่ากับ “เงินสด”
เพราะ “ตัวเลข” เป็นเพียง “ตัวเลข”
ใช้ชำระหนี้ไม่ได้
เขาเปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอล
บางทีเราไม่ต้องการ “ชนะ”
เป้าหมายของการแข่งนัดนี้ คือ “ไม่แพ้”
เช่น ตอนใกล้จบฤดูกาล เรานำทีมที่ตามมาอันดับ 2 อยู่ 3 คะแนน
นัดสุดท้าย เราไม่ต้องชนะก็ได้
ขอแค่ไม่แพ้
คือ จะชนะ หรือเสมอก็ได้
คิดแบบ “ชนะ” กับ “ไม่แพ้” แตกต่างกันมากว่าในการวางกลยุทธ์
หรือ คุณทักษิณ ชินวัตร ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย
ไม่ใช่การทำอะไรที่คนพอใจมากที่สุด
แต่เป็นการทำอะไรที่คนไม่พอใจน้อยที่สุด
“บรรทัดสุดท้าย” ที่แตกต่าง
วิธีการบริหารก็แตกต่างกันทันที
หรืออย่างล่าสุด ที่ผมไปงานศพรุ่นน้องคนหนึ่งที่น่ารักมาก
เขาทำบริษัทวางระบบไฟฟ้าในอาคาร
ต้องไปรับงานต่อจากบริษัทรับเหมาต่าง ๆ
วันที่ผมไป ผู้คนแน่นศาลาจนล้นออกมาข้างนอก
ผมไปถึงหลังพระเริ่มสวดแล้ว แทบจะหาที่นั่งไม่ได้
น้องที่มาเมื่อวันก่อนบอกว่า เมื่อวานก็แน่นจนล้นแบบนี้เหมือนกัน
ผมนึกถึงคำของน้องคนนี้ที่เคยบอกผมเมื่อครั้งหนึ่ง
เขาบอกว่าทุกครั้งที่ส่งลูกน้องไปทำงานที่โครงการไหน
KPI ที่ให้กับลูกน้อง คือ “จบงานได้เพื่อนกี่คน”
“บรรทัดสุดท้าย” ที่สำคัญของการทำงานไม่ใช่ “กำไรสูงสุด”
แต่เป็น “มิตรภาพ”
เขาให้ความสำคัญกับ “มิตรภาพ” มากที่สุด
เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมากจนเอามาเขียนในคอลัมน์
เพราะการตั้งเป้าเช่นนี้ทำให้การทำงานราบรื่น
ไม่ค่อยมีปัญหา
น้องคนนี้เป็นคนที่น่ารัก มีน้ำใจ
ไม่แปลกที่จะมีคนรักเขามาก
KPI ที่เห็นในวันนี้
ชัดเจนว่าสิ่งที่เขาบอกลูกน้อง
คือ สิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวัน