แบงก์ 7-11

คอลัมน์ marketthink โดย สรกล อดุลยานนท์

เป็นอีกหนึ่งสัญญาณ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่น่าจับตามอง

เมื่อ “ธนาคารออมสิน” จับมือกับ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ให้บริการฝาก-ถอนเงินสดผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส

นั่นหมายความว่า “ออมสิน” ได้เพิ่มจุดการฝาก-ถอนเงินสดทันทีหลายพันจุด

ตามข่าวบอกว่า 7,000 แห่ง จาก 13,000 สาขาเป็นของออมสิน ประมาณ 1,000 สาขา และของ 7-11 อีก 6,000 แห่ง

ข้อมูลตรงนี้คงต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพราะน่าจะเปิดให้บริการทุกสาขา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง

ต้องเริ่มจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันก่อน

ตอนนี้ทุกแบงก์พยายามรณรงค์เรื่อง “คิวอาร์โค้ด” ซื้อขายโดยไม่ต้องใช้เงินสด

และให้โอนเงินระหว่างกันทาง “มือถือ”

ลดการเดินทางของ “เงินสด” ลง

แม้แนวโน้มในอนาคตจะเป็นเช่นนี้

แต่ความเป็นจริงก็คือ ตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังใช้เงินสดในการซื้อสินค้า

และยังเชื่อมั่นระบบแบงก์แบบเห็นหน้า

ยังฝากหรือถอนเงินสดกันอยู่

โครงการความร่วมมือของ “ออมสิน-7-11” จึงเท่ากับเพิ่มความสะดวกให้กับคนกลุ่มนี้

แม้ประเด็นที่ชู คือ การรณรงค์ให้เด็กอายุ 7-20 ปี ออมเงินผ่านช่องทาง 7-11 โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

แต่ผมเชื่อว่าเป้าหมายแท้จริงอยู่ที่การฝาก-ถอน ที่คิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 15 บาท

“ฝาก” ได้ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท 24 ชม.

“ถอน” ได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง ตั้งแต่ 8.00-22.00 น. แต่ไม่เกิน
20,000 บาทต่อวัน

ในเรื่องของการฝากเงิน เกมนี้น่าจะพุ่งเป้าไปที่คน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย

ทุกคนไม่อยากเก็บเงินสดจำนวนมาก ๆ ไว้ในกระเป๋า

เขาอยากเอาเงินที่ขายได้เข้าแบงก์

แต่เจอปัญหาแบงก์ปิดเร็วมาก

ร้านไหนขายของตอนเย็น

ต้องหอบเงินสดกลับบ้าน

ยิ่งคนที่ขายของในตลาดนัดกลางคืน หรือร้านอาหารตอนดึก

ยิ่งแล้วใหญ่

เอาเงินกลับบ้านตอนมืด ๆ ก็มีเสียว ๆ เหมือนกัน

ถ้ามีบริการฝากเงินทาง 7-11 ตลอด 24 ชม.

เขาก็สามารถนำเงินเข้าบัญชีได้

ที่สำคัญ สเตตเมนต์ก็ดูงดงาม เวลาต้องการสินเชื่อก็ง่ายขึ้น

แบงก์ออมสินน่าจะได้ลูกค้ากลุ่มนี้เยอะทีเดียว

กลุ่มที่สอง คือ พ่อแม่ที่จะต้องโอนเงินให้ลูก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

จะโอนทางมือถือก็ทำไม่เป็น

หรือบางครั้งเป็นเรื่องเร่งด่วน แบงก์ปิดแล้ว

บริการการฝากเงินเข้าบัญชีลูกผ่าน 7-11 ก็เป็นบริการที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้

ค่าธรรมเนียม 15 บาท ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรสำหรับคนที่ต้องการความคล่องตัว

น่าจะถูกกว่าค่ามอเตอร์ไซค์ไปแบงก์

เพราะบริการนี้ ขาย “ความสะดวก” ครับ

ซึ่งเป็น “จุดขาย” ของ 7-11 อยู่แล้ว

อย่าลืมว่าราคาสินค้าในร้าน 7-11 ไม่ได้ถูกที่สุด

ราคาแพงกว่าดิสเคานต์สโตร์ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต

แต่ที่เราซื้อเพราะ “ความสะดวก”

เหมือนกับบริการการโอน-ถอนเงิน ของแบงก์ออมสินครั้งนี้

ถามว่าแบงก์ออมสินจะได้อะไรบ้าง

ส่วนหนึ่ง น่าจะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม 15 บาทบ้าง

แต่ที่สำคัญกว่า คือ ทำให้คนใช้บริการแบงก์ออมสินมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย

ถ้าเขาเอาเงินเข้าบัญชีทุกวัน

เราจะรู้เลยว่าสถานะการเงินของเขาเป็นอย่างไร

สามารถปล่อยสินเชื่อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ออมสิน” น่าจะได้ตลาดต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เพราะ 7-11 มีสาขาในต่างจังหวัดถึง 6,000 สาขา

เข้าถึงทุกอำเภอ-ตำบล

เป็นการเปิดตลาดให้ “ออมสิน” ได้เป็นอย่างดี

ในมุมกลับ ถามว่า 7-11 ได้อะไรจากเกมนี้

นอกจาก “ค่าธรรมเนียม” แล้ว

ผมเชื่อว่าที่ผ่านมา 7-11 คุยกับทุกแบงก์

แต่ยังต่อรองกันอยู่

การจับมือกับ “ออมสิน” ครั้งนี้ คือ การเร่งเกมเจรจาต่อรอง

เพราะบริการนี้จะเริ่มต้นจริงๆวันที่ 31 ตุลาคมนี้

แต่แถลงข่าวตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ก่อนให้บริการถึง 40 วัน

เป็นการบอกว่าถ้าแบงก์อื่นช้า

แบงก์ออมสินจะยึดตลาดก่อน