“คำเดียว” เปลี่ยนมุมคิด

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

รู้ไหมครับว่าทำไม ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์จึงตัดสินใจเข้าสู่วงการธนาคาร

ทั้งที่เขาไม่ได้เรียนจบด้านไฟแนนซ์

จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์

ปริญญาโทและเอกด้านบริหารธุรกิจ

ตอนที่เรียนจบมาเขาไม่เคยคิดว่าจะทำงานในแวดวงการเงินเลย

ผู้บริหารแบงก์กรุงเทพเคยให้เพื่อนมาชวนเขาหลายครั้งให้ไปทำงานที่แบงก์

ชวนกี่ครั้งเขาก็ปฏิเสธทุกครั้ง

จนวันหนึ่งเพื่อนบอกว่าให้ไปปฏิเสธผู้ใหญ่เองได้ไหม

ขี้เกียจเป็น “คนกลาง” แล้ว

เขาจึงตัดสินใจไปคุยกับผู้ใหญ่

ปฏิเสธไปอีกครั้ง

แต่ผู้ใหญ่คนนั้นบอกว่าให้เข้าไปคุยกับคุณบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงเทพเอง

เชื่อไหมครับ คุณบุญชูไม่ได้คุยเรื่องตำแหน่งงานเลย

เขาเริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่า เพิ่งไปคุยกับ “ร็อกกี้ เฟลเลอร์” มา

มหาเศรษฐีของโลกในยุคนั้นบอกว่าเรื่องใหญ่สุดของแบงก์ต่อไป คือ เรื่อง Fund Management

“คุณรู้เรื่องนี้ไหม” คุณบุญชูถาม

“วิชิต” ส่ายหน้า

“ผมไม่รู้เรื่องครับ”

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน” คุณบุญชูบอก “คุณก็ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้” แล้วทิ้งหมัดเข้ามุม

“งั้นเรามาหาความรู้ด้วยกัน”

ไม่ได้ชวนมาทำงาน

แต่ชวนมาหา “ความรู้ใหม่” ด้วยกัน

ครับ เพียงประโยคนี้ประโยคเดียว

คุณวิชิตก็ตัดสินใจเข้าทำงานที่แบงก์กรุงเทพ

และอยู่ในวงการธนาคารมาตลอดนับตั้งแต่วันนั้น

ผมฟังเรื่องนี้แล้วนึกถึงตอนที่ “สตีฟ จ็อบส์” เชิญ “จอห์น สคัลลีย์” ผู้บริหารของเป๊ปซี่

เขาใช้ “ประโยคเดียว” เปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน

“คุณอยากใช้เวลาที่เหลือทั้งชีวิตขายน้ำหวานต่อไป หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยกัน”

หมัดเดียวอยู่เลย

คนเราทุกคนต้องเจอประโยคเปลี่ยนชีวิตเช่นนี้อยู่เป็นประจำ

ล่าสุดผมเพิ่งได้นั่งคุยกับ ดร.วิชิตอีกครั้ง

มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

เป็นเรื่อง “ประโยคเดียว” เหมือนกัน

แต่ครั้งนี้ไม่ได้ “เปลี่ยนงาน”

หากเป็น “ประโยคเดียว” ที่เปลี่ยน “ความคิด” ของเขา

และไม่ได้มาจาก “ผู้ใหญ่” คนไหน

แต่มาจาก “ลูกน้อง” คนหนึ่ง

ดร.วิชิตเป็นคนทำงานจริงจัง ทำงานทุกอย่างต้องเนี้ยบ ห้ามผิดพลาด

จนวันหนึ่งระหว่างที่คุยงานกับลูกน้อง

คุยกันหลายเรื่อง และอาจมีความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน

ตามปกติลูกน้องจะยอมทำตาม “วิชิต”

แต่ครั้งนี้ลูกน้องคงเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง

เขาเอ่ยขึ้นมาประโยคหนึ่ง

“ผมขอลองผิดบ้างได้ไหมครับ”

เชื่อไหมครับเพียงแค่ประโยคเดียว เปลี่ยนความคิดของ ดร.วิชิตไปเลย

เขาเคยเชื่อมั่นว่าการทำงานต้องถูกต้อง ห้ามผิดพลาดเป็นอันขาด

แต่เพียงประโยคเดียวของลูกน้องทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาว่าที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้ทำงานถูกต้องทั้งหมด

เขาก็เคยผิด

แล้วทำไมลูกน้องจะผิดพลาดบ้างไม่ได้

ในโลกนี้ถ้าทำทุกอย่างระมัดระวังมากเกินไปไม่กล้าออกจากกรอบเดิมที่เคยทำ

กลัวจะทำอะไรผิด

“ความคิดสร้างสรรค์” คงไม่เกิด

“สิ่งใหม่-ของใหม่” ในโลกนี้ล้วนเกิดจาก “ความกล้าหาญ” ที่จะทดลอง

ไม่ใช่ลองถูก

แต่ลองผิด

นี่คือ ประโยคเดียวเปลี่ยนความคิด


ของ “วิชิต สุรพงษ์ชัย”