คน 3 โลก

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

ถ้าใช้สำนวนของ “มติชนสุดสัปดาห์” ก็ต้องบอกว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ก้าวเข้าสู่ปริมณฑลของ “ไซเบอร์ธิปไตย” อย่างเต็มตัวแล้ว

“ลุงตู่” เปิดเพจในเฟซบุ๊ก

เปิดอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์

ครบถ้วนกระบวนการโซเชียลมีเดีย

คำถามว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้ง 4 ปีกว่า ทำไมต้องมาเปิดในช่วงนี้

คำตอบแบบที่ไม่ได้ออกจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทุกคนรู้

นั่นคือ เพราะปี่กลองเลือกตั้งเริ่มต้นแล้ว

และ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าสนใจเรื่องการเมือง

ไม่ได้บอกว่าสนใจแบบไหน

และที่ทุกคนรู้ และ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยบอก ก็คือ เขาจะเล่นการเมืองผ่านการสนับสนุนของพรรคพลังประชารัฐที่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลไปเป็นหัวหน้าพรรคและแกนนำ

เครื่องหมายถูก ในเพจของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นรูปริบบิ้นลายธงชาติเหมือนโลโก้พรรคพลังประชารัฐ

เป็นกลยุทธ์การ “เนียน” เพื่อสร้าง “ภาพจำ”

เหมือนโลโก้พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทยที่มี “ภาพจำ” บางอย่างที่คล้ายคลึงกัน

เมื่อจะเล่นการเมืองแบบสืบทอดอำนาจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องหาช่องทางที่จะสื่อสารกับคนส่วนใหญ่

นั่นคือ ที่มาของการเข้าสู่ “ไซเบอร์ธิปไตย” ในวันนี้

ซึ่งโลกใบนี้แตกต่างจาก “โลกเก่า” ที่พล.อ.ประยุทธ์คุ้นเคย

เพราะกติกาของโลกใบใหม่

คือ “ไม่มีกติกา”

ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

ไม่มี ม.44 ในโลกใบนี้

อย่าแปลกใจที่ “ความเห็น” ในเพจของ พล.อ.ประยุทธ์จึงร้อนแรงกว่าปกติ

นี่คือ “รายจ่าย” ที่ต้องจ่ายเมื่อเข้ามาสู่โลกไซเบอร์

ใน “โลกใบเก่า” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คุ้นชิน คือ ภาพการต้อนรับของประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ที่ไปเยือน

มีแต่เสียงตะโกนว่า “รักลุงตู่”

และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อไป

แต่ในโลกไซเบอร์ ความเห็นในเชิงต่อต้านกลับมากกว่าสนับสนุน

ปรากฏการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับธุรกิจเก่าที่เข้าสู่โลกใหม่

เขาต้องเข้าใจสัจธรรมของโลกใบนี้

การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหวังประชาสัมพันธ์ หรือขายสินค้า

ต้องไม่ลืม “รายจ่าย” ที่เกิดขึ้นด้วย

เพราะช่องทางใหม่ที่คล่องตัว สามารถกระจายข่าวสารหรือสร้างความสะดวกในการซื้อ

หากเกิดความไม่พอใจหรือข่าวสารด้านลบขึ้นมา

การแพร่กระจายของ “ข่าวร้าย” ก็เร็วพอ ๆ กับ “ข่าวดี”

หรือบางทีอาจเร็วกว่าหรือมากกว่าก็ได้

และถ้าเราหลงไปกับกระแสโซเชียลมีเดียมากเกินไป

บางทีเราก็อาจตัดสินใจผิดพลาดได้

“โลกใบเก่า-โลกไซเบอร์” และ “โลกความจริง” อาจแตกต่างกัน

เหมือนกรณีของ “ไนกี้” กับแคมเปญเรื่อง “ความเชื่อ”

เขาเลือก Colin Kaepernick นักอเมริกันฟุตบอลที่คุกเข่าระหว่างการเคารพเพลงชาติอเมริกา

แสดงการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์กับความไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสีของตำรวจ

Kaepernick โดนบอยคอตจนต้องออกจากสังเวียน NFL

แต่ “ไนกี้” เลือกเขาเป็นพรีเซ็นเตอร์

และใช้คำว่า “จงเชื่อในบางสิ่ง แม้จะหมายถึงการเสียสละทุกอย่าง”

ช่วงต้นกระแสความไม่พอใจในโลกออนไลน์แรงมาก

มีการเผารองเท้าไนกี้

หุ้น “ไนกี้” ร่วง

แต่สุดท้าย “โลกความจริง” ก็คือ มีคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการกระทำที่กล้าหาญของ “ไนกี้”

ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนกลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่แท้จริง

พิสูจน์จากยอดขาย “ไนกี้” พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

บางทีเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะเป็นแบบเดียวกับ “ไนกี้” ก็ได้

“โลกออนไลน์” ต่อต้าน

แต่ “โลกความจริง” อาจสนับสนุน

หรือจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับโลกออนไลน์ ไม่มีใครรู้

จนกว่าจะมี “คำตอบ” จาก “ประชาชน” ในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ถ้ามี…