ตลาด “พระ”

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

เพิ่งอ่านเพจ The People สื่อออนไลน์ใหม่

เขาเขียนเรื่อง “รองเท้านันยาง”

น่าสนใจมากครับ

ผมชอบกลยุทธ์การตลาดของ “นันยาง” มานานแล้ว

เคยเขียนถึงครั้งหนึ่ง ตอนที่เขาออกรองเท้าผ้าใบ “นันยางชูการ์” สำหรับเด็กผู้หญิงออกมา

แค่เพิ่มริบบิ้นสวย ๆ สีต่าง ๆ ให้เปลี่ยนตอนไปเที่ยว

ขายถล่มทลายเลยครับ

แม้แต่นักศึกษา หรือคนทำงานก็สนใจ

รองเท้านันยางเป็นสินค้าที่อยู่คู่นักเรียนไทยมานาน

ความทนทานของพื้นรองเท้า เด็กผู้ชายรู้ดี

“นันยาง” จึงครองตลาดรองเท้าผ้าใบของนักเรียนชายสูงถึง 80%

แต่เด็กผู้หญิงใส่รองเท้าผ้าใบของ “นันยาง” เพียง 40%

เพราะ “ความทนทาน” ไม่มีเสน่ห์สำหรับนักเรียนหญิง

เขาจึงพลิกมาใช้ “ริบบิ้น” สีสวย ๆ มาล่อใจแทน

แค่พลิกมุมนิดเดียว เกมเปลี่ยนเลยครับ

กลยุทธ์การพลิกแบรนด์สินค้าที่ดูโบราณ เก่าแก่ให้โดนใจเด็กรุ่นใหม่ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สุดยอดมาก

ตอนนี้ “นันยางชูการ์” ก็ยังขายดี

ทำรายได้ประมาณ 10% ของ “นันยาง” ทั้งหมด

ล่าสุด เขาบุกตลาดใหม่ครับ

“ตลาดพระ”

“นันยาง” นั้นมีสินค้าหลักอยู่ 2 ตัว

ตัวหนึ่ง คือ รองเท้าผ้าใบ

อีกตัวหนึ่ง คือ รองเท้าแตะแบบคีบยี่ห้อ “ช้างดาว”

ขายได้ปีละประมาณ 5 ล้านคู่

เขาครองตลาดทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะที่พม่า เขาครองตลาดประมาณ 20%

และเมื่อ 2-3 ปีก่อน “นันยาง” ผลิตรองเท้าแตะตราช้างดาวรุ่นใหม่…สีเหลือง

วิธีคิดของเขาน่าสนใจ

พระภิกษุและสามเณรในเมืองไทยมีประมาณปีละ 350,000 รูป

จำนวนมากบวชแค่ 7 วันหรือ 15 วัน

อัตราการหมุนเวียนของ “พระใหม่” จึงสูงมาก

พระส่วนใหญ่จะใส่รองเท้าแตะคีบ

แต่ในตลาดไม่มี “สีเหลือง”

หรือรองเท้าแตะสำหรับ “พระ”

นี่คือ ช่องว่างทางการตลาดที่ไม่มีใครมอง

แต่ “นันยาง” เห็นระหว่างรองเท้าแตะสีน้ำเงิน เขียว หรือแดงกับรองเท้าแตะสีเหลือง

ญาติโยมจะเลือกคู่ไหนถวายพระ

ต้อง “สีเหลือง” อย่างแน่นอน

รองเท้าแตะสีเหลืองจึงขายดีมาก

ช่วงเวลาการขายของเขา คือ ช่วงเข้าพรรษาครับ

เพราะพระบวชใหม่เยอะ

และเป็นช่วงที่คนซื้อของถวายพระ

กลายเป็นตลาดใหม่ของรองเท้าแตะช้างดาว

แค่เปลี่ยน “สี”

ที่สำคัญก็คือ ตลาดนี้ได้สร้างช่วงเวลาใหม่ของการขายสินค้าของ “นันยาง”

เพราะสินค้าของ “นันยาง” โดยเฉพาะ “รองเท้าผ้าใบ” เป็นสินค้าตามฤดูกาล

คือ จะขายได้มากในช่วงเปิดเทอม

พ่อแม่จะซื้อรองเท้าใหม่ให้ลูก

ระหว่างเรียนจะซื้อรองเท้าใหม่ไม่มากนัก

รายได้ของบริษัทจึงกระจุกในช่วงเปิดเทอม

เหมือนฝนตกใหญ่ซู่เดียว ที่เหลือค่อย ๆ ตกปรอย ๆ

พอมี “รองเท้าแตะสีเหลือง”

ฤดูการขาย คือ ช่วงเข้าพรรษา

ต่อจากเปิดเทอมพอดี

กระแสเงินเข้าบริษัทจึงต่อเนื่อง

กรณี “นันยาง” ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ถ้ามองว่าแค่เปลี่ยนริบบิ้น-เปลี่ยนสี ก็เหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ

แต่หากมองอย่างลึกซึ้งก็คือ เขาเก่งที่มองเห็นช่องว่างการตลาด

และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า


เรื่องง่าย ๆ แต่คิดยากนะครับ