ราคา “คำพูด”

คอลัมน์ Market-think

จนถึงวันนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเมืองไทยยังไม่ฟื้นเลยครับ

หลังเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตรัฐบาลพยายามอ้างเหตุผลว่าชาวจีนเริ่มรัดเข็มขัดจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา เลยมาเที่ยวน้อยลง

วิธีพิสูจน์เรื่องนี้ง่าย ๆ เลยก็คือ เอาตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในประเทศอื่นมาเทียบกับไทย

ถ้าลดลงใกล้เคียงกันก็แสดงว่า “เหตุผล” นั้นถูกต้อง

แต่ถ้าประเทศอื่นนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลงเล็กน้อยก็หมายความว่า “เหตุผล” นั้นเป็น “ข้ออ้าง” เพื่อจะบอกว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด

ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเห็นข่าวกระแสคนจีนต่อต้านแบรนด์แฟชั่นชื่อดังของอิตาลี Dolce & Gabbana หรือ D&G

เรื่องนี้เริ่มต้นจากคลิปโปรโมตงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ D&G ที่เซี่ยงไฮ้

ในคลิปเป็นภาพของผู้หญิงจีนกินพิซซ่า คาโนลี่ และสปาเกตตีด้วยตะเกียบ

ถ้าดูในมุมของเราก็คงเป็นเพียงแค่วิธีคิดของครีเอทีฟที่ต้องการผสมผสานระหว่าง “จีน” กับ “อิตาลี” ผ่านวัฒนธรรมอาหาร

แต่ “คนจีน” ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น

เขารู้สึกว่านี่คือการดูถูกคนจีนว่าไม่รู้จักวิธีการกินอาหารยุโรป

เป็นการเหยียดเชื้อชาติ

คลิปนี้โปรโมตได้ไม่นานก็ต้องรีบลบทิ้งเพราะกระแสต่อต้านรุนแรงมาก

แต่ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อดีไซเนอร์ชื่อดังของ D&G เขียนใน IG บอกว่า การลบคลิปนี้เพราะกลัวผู้มีอำนาจ

ถ้าเป็นเขา เขาจะไม่ลบเด็ดขาด

และบอกด้วยว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่…

เขาใส่สัญลักษณ์ “อุนจิ” ต่อท้าย

เรียบร้อยสิครับ

กระแสต่อต้านยิ่งรุนแรงขึ้น

ดารา-นักร้อง ที่ได้รับเชิญหรือจ้างไปเดินแบบในงานนี้ประกาศถอนตัว

บางคนถึงขั้นบอกว่าจะไม่ร่วมงานกับ D&G อีกเลย

ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินบางแห่งเอาสินค้า D&G ออกจากชั้นวาง

เว็บไซต์ขายสินค้าดัง ๆ ของจีนแทบทุกแห่ง เลิกขายแบรนด์นี้

ทาง D&G พยายามออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์นี้ บอกว่าความฝันของเราคือมาที่เซี่ยงไฮ้เพื่อบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์และวิสัยทัศน์ของ D&G

งานนี้ไม่ใช่แค่งานแฟชั่น แต่เป็นงานที่เราทุ่มเทด้วยความรักและแรงบันดาลใจเพื่อคนจีนที่รักแบรนด์นี้

แต่เป็นเรื่องที่โชคไม่ดีมาก ๆ ที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

เขาตบท้ายด้วยการขอแสดงความเสียใจต่อเพื่อนและแขกของเรา

อ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรครับ

ผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกคล้ายชาวจีน

ทำไมไม่มีคำว่า “ขอโทษ” สักคำเดียว

ดราม่าเรื่อง D&G ในเมืองจีนไม่รู้ว่าจะใช้เวลายาวนานเท่าไรกว่าจะจบ

แต่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเมืองไทยและสินค้าไทย

จีนเป็นประเทศใหญ่ที่ประชากรอ่อนไหว และชาตินิยมสูงมาก

ผมเชื่อว่าเขาเจอคำดูถูกมายาวนานมาก

พอเขาเริ่มแปลงร่างเป็น “พญามังกร”

ความรู้สึกนี้ยังคงอยู่ในใจ

ถ้ามีอะไรไปกระตุ้นทำให้รู้สึกว่าใครดูถูกเขา

คนจีนจะรู้สึกโกรธมาก

กรณีเรือล่มที่ภูเก็ตก็เช่นกัน รัฐบาลจีนและคนจีนโกรธมาก

คนที่รับผิดชอบเรื่องการท่องเที่ยวรู้ดีว่าเขาโกรธแค่ไหน

เพราะรัฐบาลไทยแอ็กชั่นเรื่องนี้ช้ามาก

แต่ที่แรงกว่าและทำให้กระแสความไม่พอใจกระจายไปแบบไฟลามทุ่งเพราะคำพูดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“นักท่องเที่ยวจีนเป็นคนทำนักท่องเที่ยวจีน จะไปเรียกความเชื่อมั่นยังไง เรื่องของนักท่องเที่ยวเขา เรื่องของเขา เขาทำเรือของเขาเอง เขาฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเรา แล้วจะให้เราไปเรียกความเชื่อมั่นยังไง ก็เป็นเรื่องของเขา”

หลังเหตุการณ์นี้ยอดนักท่องเที่ยวจีนลดฮวบลงทันที

คนไทยที่อยู่เมืองจีนคนหนึ่งเล่าว่าเขาคุยกับเพื่อนชาวจีนเรื่องนี้

เพื่อนบอกเขาสั้น ๆ ว่า “เราไม่อยากไปประเทศที่ไม่รักเรา”

ครับ ใครจะไปนึกว่าเพียงแค่ประโยคเดียวไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือการพูดจะมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างรุนแรงขนาดนี้

“คำพูด” มี “ราคา” จริง ๆ


แพงกว่า “นาฬิกา” เสียอีก