ตลาดวิชา

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

 

โลกแห่งการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆครับ

ผมเพิ่งเห็นโครงการใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Thammasat Gen Next Academy หรือธรรมศาสตร์ตลาดวิชา

เขาจะเปิดให้ “คนนอก” สามารถเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์ได้

ทุกวิชาที่เรียน ถ้าสอบผ่านจะได้ประกาศนียบัตร

สะสมหน่วยกิตได้ 8 ปี

สามารถนำมาเป็นหน่วยกิตสะสมถ้าจะเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ คือ นักเรียนที่อยากเรียนล่วงหน้าเพื่อเปิดโลกทัศน์หรือค้นหาตัวตนตัวเองก่อนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย

คนวัยทำงานที่อยากเพิ่มความรู้ในการทำงาน

และคนวัยเกษียณที่อยากเรียนรู้ตลอดชีวิต

วิธีการเรียนมี 3 แบบ คือ เรียนทางออนไลน์, เรียนในห้องเรียนกับนักศึกษาปกติ และเรียนแบบคอร์สระยะสั้น

ค่าหน่วยกิตมากกว่านักศึกษาปกติ 1.5 เท่า

ตอนนี้เขายังไม่เปิดนะครับ

จะเปิดประมาณเดือนมกราคมปีหน้า

โครงการนี้น่าจะมีผู้สนใจเยอะมาก เพราะคนยุคนี้ใฝ่หาความรู้ใหม่ ๆ

ตอนที่เลือกคณะในมหาวิทยาลัย ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบคณะที่เราเลือก

แต่วันนี้เมื่อทำงานแล้ว เขาจะรู้ว่าจริง ๆ เขาสนใจเรื่องอะไร

หรือรู้ว่างานที่ทำอยู่ควรจะเสริมความรู้ด้านไหน

ในมุมของ “ธรรมศาสตร์” นี่คือ การกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

มหาวิทยาลัยเปิดที่เปิดประตูเสรีให้คนทุกชนชั้นมาเรียนได้

ก่อนหน้านี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งเปิดให้เรียนทางออนไลน์ฟรี

เป็นหลักสูตรสั้น ๆ ที่เสริม “ความรู้” สำหรับคนทำงาน

เช่น กฏหมายพื้นฐานสำหรับธุรกิจ, กฏหมายกับธุรกิจ Thailand 4.0 และภาษีกับธุรกิจ, ภาษาอังกฤษเบื้องต้นสำหรับพนักงานโรงแรม และร้านอาหาร, การสร้างชิ้นงานจากโปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติ, การทำความเข้าใจงบการเงิน ฯลฯ

ฟังแล้วน่าสนใจไหมครับ

เปิดให้ลงทะเบียนแป๊บเดียวเต็มเลยครับ

เชื่อว่าโครงการนี้ของธรรมศาสตร์ก็คงจะเต็มอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

ผมเห็นโครงการของ 2 มหาวิทยาลัยนี้แล้วยังสนใจเลยครับ

มี “ความรู้” หลายเรื่องที่อยากรู้

ผมเชื่อว่าทิศทางของสถาบันการศึกษาในอนาคตน่าจะออกมาแนวทางนี้

ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป

จำนวนนิสิตนักศึกษาเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ

เพราะคนไทยมีลูกน้อยลงตั้งแต่ประมาณปี 2540

และสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีก็เพิ่มมากขึ้น นอกจากมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว

ยังมีสถาบันราชภัฏที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีจำนวนมาก

นักเรียนน้อยลง สถาบันการศึกษามากขึ้น

ตลาดนักศึกษาเป็น “เรดโอเชี่ยน” มาหลายปีแล้ว

ถ้ายังอยู่กับกลุ่มเป้าหมายเดิมที่เรียวลง ไม่ขยายตลาดใหม่

อนาคตคงไม่สดใส

อีกเหตุผลหนึ่งมาจากคนเริ่มแสวงหา “ความรู้” มากขึ้นเรื่อย ๆ

“ความรู้เก่า” ล้าสมัยเร็วขึ้นเรื่อย ๆ

การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ

ตลาด “คนทำงาน” และ “คนเกษียณ” จึงเป็นตลาดใหม่ของสถาบันการศึกษา

คนกลุ่มนี้มีเงิน

และพร้อมจ่ายสำหรับ “ความรู้”

เทคโนโลยี่ทำให้การเรียนทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

คนไทยเรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ จากโลกอินเทอร์เน็ตจนการเรียนทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

แต่ “ความรู้” ที่เป็นหลักจริง ๆ เช่น เรื่องการเงิน กฎหมาย ฯลฯ ยังไม่ค่อยมีในอินเทอร์เน็ต

โดยเฉพาะที่เป็นภาษาไทย

การเปิดเกมใหม่ของ “ธรรมศาสตร์” และ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” น่าจะทำให้ภูมิทัศน์ของตลาดวิชาการเปลี่ยนไป

เหมือนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมริเริ่มทำหลักสูตรสำหรับนักธุรกิจ

ตลาดของ “ความรู้” จึงไม่ใช่แค่สำหรับเด็กนักเรียนที่จบใหม่เท่านั้น

เพียงแค่เปลี่ยนมุมคิด

อนาคตที่ดูตีบตันก็สดใสขึ้นทันที

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!