มองหา “โอกาส”

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

“ปัญหา คือ บิดาของนักประดิษฐ์”

ผมชอบประโยคนี้มาก

เป็นคำพูดของนักประดิษฐ์ไทยคนหนึ่ง

ทุกครั้งที่เห็น “ปัญหา” เขาจะมองข้ามชอตเลยว่าถ้าเขาสามารถแก้ปัญหานี้ได้

เขาจะได้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมา 1 ชิ้น

วันก่อน ผมเพิ่งสัมภาษณ์ “กอล์ฟ” สรสิช เนตรนิล ทาง “เฟซบุ๊กไลฟ์” ของผม

“กอล์ฟ” เป็นเจ้าของ “บุญนำพา” บริษัทที่รับจัดงานบุญครบวงจร

ธุรกิจของเขาเริ่มจาก “ปัญหา” ไม่ใช่ “ปัญหา” ของเขา

แต่เป็น “ปัญหา” ของเพื่อน

“กอล์ฟ” ไปงานขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อน เห็นเพื่อนหน้าตาเคร่งเครียด วุ่นวายกับการจัดงานงานที่ควรจะเป็นงานแห่งความสุข เพราะเป็นวันขึ้นบ้านใหม่

แต่เจ้าของงานกลับไม่มีความสุข

เพราะรายละเอียดของงานบุญนั้นวุ่นวายมาก ทั้งยืมของ ติดต่อคน และอื่น ๆ อีกมากมาย

“กอล์ฟ” มองเห็น “โอกาส” ทางธุรกิจ

เขาคิดว่าถ้ามีบริษัทหนึ่งรับจัดงานทั้งหมด โดยที่เจ้าภาพเพียงแค่คอยรับแขกเพียงอย่างเดียว

คิดดูสิครับว่าเจ้าภาพจะมีความสุขแค่ไหน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เพียงไม่กี่ปี

รู้ไหมครับว่างานของ “บุญนำพา” เยอะแค่ไหน

แค่เดือนละประมาณ 200-300 งานเท่านั้นเอง

ขอบเขตงานของ “บุญนำพา” ตั้งแต่ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญประจำปีบริษัท หรือเปิดโครงการต่าง ๆ

ธุรกิจของเขาครอบคลุมไปทั้งทำพิธีบุญ ติดต่อพระ จัดเตรียมงาน อาหาร เครื่องสังฆทาน ฯลฯ

ถ้าได้ฟัง “กอล์ฟ” ให้สัมภาษณ์ในวันนั้น จะรู้เลยว่าเขาเป็นคนละเอียดมาก

แค่ขั้นตอนการเชิญพระไปงานก็คิดทุกขั้นตอน

เขามีรายชื่อพระวัดต่าง ๆ ครบถ้วน บ้านเจ้าภาพอยู่ตรงไหน “กอล์ฟ” จะเชิญพระจากวัดใกล้บ้าน

มีรถไปรับพระ คำนวณเวลาและประสานงานกันอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

เพราะเรื่องงานบุญ ต้องตรงเวลา ช้าไม่ได้

ฤกษ์ยามเป็นเรื่องสำคัญ

ที่สำคัญ คือ เขาย้ำทีมงานเรื่องความปลอดภัย

ไม่ใช่แค่เรื่อง “เวลา” เท่านั้น

แต่ยังหมายถึงแบรนด์ของ “บุญนำพา” ด้วย

เพราะเป็นบริษัทเกี่ยวกับงานบุญ ถ้าประสบอุบัติเหตุขึ้นมา ภาพลักษณ์ขององค์กรจะเสียหาย

หรือเรื่องอาหาร ทำอย่างไรจึงทั้งอร่อย เร็ว และร้อน

เครื่องสังฆทานก็ไม่เหมือนใคร

เพราะเขาสำรวจความต้องการของพระมาแล้วว่าต้องใช้อะไรบ้าง เช่น ยาธาตุ ไม่ต้อง แต่ผ้าก๊อซจำเป็น ฯลฯ

ยังมีรายละเอียดหลายเรื่องที่รู้เลยว่า “กอล์ฟ” ไม่ธรรมดา

คิดทุกชอต ทุกขั้นตอน

“บุญนำพา” คือ ตัวอย่างของการแสวงหาตลาด “บลูโอเชียน” อย่างแท้จริง

เริ่มต้นจากการเห็น “ปัญหา”

คิดหาแนวทางการแก้ไข แล้วปรับให้เป็นธุรกิจ

“กอล์ฟ” แปรทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบข้อมูล

และขยายตลาดด้วย “ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง” ที่เขาเชี่ยวชาญ

ในโลกนี้คนชอบคิดว่าทุกธุรกิจมีคนทำหมดแล้ว

แต่จริง ๆ แล้วยังมี “ช่องว่าง” ให้ทุกคนสามารถแทรกเข้าไปได้อยู่

เพียงแต่เราจะมองเห็นหรือไม่

…เท่านั้นเอง