“โตโยต้า” จะบิน

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

เห็นการขยับตัวครั้งล่าสุดของ “โตโยต้า” แล้วน่าสนใจมากครับ

เขาไปร่วมทุนกับ “พานาโซนิค” สร้างโรงงานแบตเตอรี่

“โตโยต้า” ถือหุ้น 51% และ “พานาโซนิค” ถือหุ้น 49%

ความน่าสนใจของเกมนี้มีอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก “โตโยต้า” เปลี่ยนจังหวะก้าวใหม่ในเรื่อง “รถยนต์ไฟฟ้า”

จากที่ค่อย ๆ เดิน กลายเป็นก้าวกระโดด

ถ้าจำได้ ผู้บริหารระดับสูงของ “โตโยต้า” เคยบอกเมื่อประมาณ 1 ปี

กว่าว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” ยังไม่มา

เพราะกว่าที่ “ไฮบริด” จะกินส่วนแบ่ง 15% ของยอดขายได้กินเวลาตั้ง 15 ปี

รถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่ง 30% ภายในเวลาอีก 10 กว่าปี

…เป็นไปไม่ได้

แต่หลังจากนั้นไม่นาน “โตโยต้า” ก็ประกาศว่าปี 2030 รถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งรวมระบบ “ไฮบริด” ของเขาด้วยจะต้องมียอดขาย 5.5 ล้านคัน

หรือประมาณ 50% ของยอดขายทั้งหมด

การร่วมลงทุนกับ “พานาโซนิค” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “แบตเตอรี่” ของโลก ส่งแบตเตอรี่ให้ทั้งเทสลา และฮอนด้า

ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญของ “โตโยต้า”

เพราะเท่ากับเป็นการลดต้นทุน “แบตเตอรี่” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า

ทำให้เป้าหมาย 5.5 ล้านคันมีความเป็นไปได้มากขึ้น

เป้าหมายเดิมของเขาจะให้น้ำหนักกับ “รถยนต์ไฟฟ้า” เต็มรูปแบบแค่ 20% ของเป้าหมาย 5.5 ล้านคัน

นั่นหมายความว่ายังให้้น้ำหนักกับ “ไฮบริด” มากกว่า

ผมเชื่อว่าการร่วมทุนกับ “พานาโซนิค” ครั้งนี้จะทำให้เป้าหมายนี้เปลี่ยนไป

“รถยนต์ไฟฟ้า” จะมีสัดส่วนมากขึ้น

“โตโยต้า” เอาจริงกับตลาดนี้แล้วครับ

ประเด็นที่สอง “โตโยต้า” กำลังกระจายความเสี่ยง

ไม่อยู่กับอุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว

ผมคิดว่าเขาคงกลัวจะโดน Disrupt เหมือนกัน

ไม่ใช่เพียงแค่จาก “รถยนต์ไฟฟ้า”

แต่ยังหมายถึง “อะไรก็ไม่รู้” อีกมากมาย

ก่อนหน้านี้มีข่าวใหญ่เรื่อง “โตโยต้า”

ไปลงทุนใน Grab ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33,000 ล้านบาท

เขาใช้คำว่าต้องการลงทุนพัฒนา

“รถอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อนำโซลูชั่นในการขับเคลื่อนแบบไร้สายมาใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

คือ นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของ “แพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงในโลกยุคนี้

คำว่า “รถอัจฉริยะ” น่าสนใจมาก

อาจหมายถึง “รถยนต์ไร้คนขับ” ก็ได้

ยิ่งมีข่าวเรื่องการลงทุนกับกลุ่ม

สตาร์ตอัพใน “รถบินได้” ที่จะใช้ในการจุด

คบเพลิงกีฬาโอลิมปิกปีหน้าที่ญี่ปุ่น

แม้จะใช้เงินทุนไม่มากนัก เหมือนกับทดลองเล่น ๆ

แต่บางทีอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

ผมรู้สึกว่า “โตโยต้า” กำลังกระจายความเสี่ยงหรือต่อจิ๊กซอว์อะไรบางอย่าง

บางทีต่อไป “โตโยต้า” อาจไม่ใช่ “รถ”

แต่เป็น “อะไรก็ได้” ที่เกี่ยวกับการเดินทาง

ไม่ว่าจะเป็นบนดิน หรือท้องฟ้าหรือใต้ดิน และใต้น้ำ

เท่าที่รู้เป้าหมายของ “โตโยต้า” คือการลดต้นทุนอีกเท่าตัว

ให้องค์กรคล่องตัวที่สุดและพร้อมหาโอกาสจากช่องทางใหม่ ๆ

น่าสนใจมากครับ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!