สมอง-ใจ

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อนคุยกับ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เรื่องสนามลู่ปั่นเจริญสุขมงคลจิต

สนามปั่นจักรยานที่ไม่เพียงแต่ดีที่สุดในเมืองไทยแต่น่าจะดีที่สุดในโลก

สนามลู่ปั่นเจริญสุขมงคลจิตใช้พื้นที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ AOT รอบสนามบินสุวรรณภูมิ

ใช้งบประมาณลงทุนหลักพันล้านบาท

เป็นการลงทุนร่วมของภาคเอกชนที่เห็นประโยชน์ของโครงการนี้

สร้างสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายให้คน กทม.และพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นทางเลือกใหม่

แทนที่วันหยุดต้องไปศูนย์การค้าเพียงอย่างเดียว

ตอนนี้คนไปใช้บริการเยอะมาก

ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

วันที่คุยกับ ดร.วิชิต มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก

เขาบอกว่าตอนหาเงิน คนเราใช้ “สมอง”

แต่เวลาตัดสินใจใช้เงินเราใช้ “หัวใจ”

คมมาก…

ครับ การทำธุรกิจหาเงิน เราใช้สมอง-ใช้เหตุผล

จะขายอะไรดี

ตั้งราคาเท่าไร

มีเงินแล้วจะลงทุนอะไรต่อ

จะร่วมทุนกับใคร ฯลฯ

ทุกอย่างล้วนใช้ “สมอง” ใช้ “ความคิด”

แต่เมื่อถึงเวลาใช้เงิน

การตัดสินใจของแต่ละคน

แตกต่างกัน

บางคนเลือกซื้อเพชร

เพราะชอบเพชร

เลือกซื้องานศิลปะ

เพราะชอบศิลปะ

การเลือกใช้เงินกับของแต่ละอย่างเป็นไปตาม “ความชอบ” ของตัวเอง

ไม่ใช่ “เหตุผล”

ผู้หญิงที่ซื้อกระเป๋าราคาแพง ๆ มักจะมีเหตุผลมากมาย

รวมทั้งเรื่องการลงทุน

เวลาขายต่อ ขายได้แพงกว่าซื้อ

แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่เคยขายสักใบเดียว

“เหตุผล” นั้นเป็น “ข้ออ้าง”

แต่จริง ๆ ซื้อเพราะ “ชอบ”

ไม่ใช่เรื่องของ “สมอง”

แต่เป็นเรื่องของ “หัวใจ”

เหมือนผู้ชายที่สะสม “นาฬิกา”

ก็จะอ้างแบบเดียวกัน

แต่จริง ๆ คือชอบ “นาฬิกา”

อาจมีแค่บางคนที่ใส่นาฬิกาแพง ๆ

แต่ไม่ซื้อ “นาฬิกา”

ใช้การยืม “นาฬิกา” ของเพื่อน

คนนั้นแท้จริงเขาอาจไม่ได้ชอบ “นาฬิกา”

แต่ชอบ “การยืม” ของคนอื่น

นี่ก็เป็นเรื่อง “ใจ” เหมือนกัน

ในอีกมุมหนึ่ง การใช้เงินของบางคนก็ไม่ได้ใช้ในการเลือกซื้อของที่เราชอบ

แต่เลือกลงทุนเพื่อผู้อื่น

เหมือนที่เราเห็นนักธุรกิจใหญ่ ๆ

อย่าง “บิล เกตส์-วอร์เรน บัฟเฟตต์” ทำกัน

เมื่อมีเยอะมากเกินก็โอนกลับไปสู่สังคม

นักธุรกิจไทยหลายคนก็ทำกัน

ทั้งแบบเงียบ ๆ และเปิดเผย

แต่บางคนก็ไม่เคยคิดจะทำเลย

ทั้งที่รวยล้นฟ้า

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของ “สมอง” ครับ

แต่เป็นเรื่องของ “หัวใจ”