กล้าคิด

คอลัมน์ Market – think

โดย สรกุล อดุลยนนท์

ถ้าไม่เคยสัมภาษณ์ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในรายการ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ Live”

คุยกันเรื่องธุรกิจ วิธีคิดและการบริหาร “ไทยซัมมิท ออโต้พาร์ท” แบบไม่มีเรื่อง “การเมือง” เจือปนเลย

ผมก็คงรู้สึกเหมือนหลาย ๆ คน ตอนที่เขาแถลงข่าวเรื่อง “ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย”

ค่อนข้างเพ้อฝัน หรือไปไกลเกินไป

เพราะ “ไฮเปอร์ลูป” ที่เป็นแนวคิดของ “อีลอน มัสก์” นั้นยังเป็นโครงการทดลองอยู่เลย

“รถไฟฟ้าความเร็วสูง” ต่างหาก คือ “ของจริง”

เพราะมีใช้กันแพร่หลายแล้วในโลก

ทำไมเมืองไทยต้องมีลงทุนกับโครงการที่ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาและพัฒนา

ประเด็นนี้น่าสนใจครับ

ถ้า “ธนาธร” ไม่ใช่ “นักการเมือง”

และไม่ได้อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

“ไฮเปอร์ลูป” เป็นประเด็นที่น่าถกเถียงกันมากเลยครับ

ทั้งเรื่อง “เทคโนโลยี” และ “วิธีคิด” ของ “ธนาธร”

แต่พอมีเรื่อง “การเมือง” มาเกี่ยวพัน

การคุยกันเรื่องนี้จึงอาจถูกตีความไปในมุมอื่นได้

เพราะ “วิธีคิด” ของ “ธนาธร” ใหม่มาก

ถ้าดูจากประวัติของเขา ที่เป็นนักอุตสาหกรรมมาเกือบทั้งชีวิต คลุกคลีกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์

เขาบุกเบิกสิ่งใหม่เยอะมาก

ไม่ว่าจะเป็นการออกไปตั้งโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ใน 7 ประเทศ

แต่ละประเทศรวมกันมีประชากรเกินครึ่งโลก

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ

บริษัทลงทุนตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา สร้างเทคโนโลยีของตัวเอง

จนกระทั่ง “อีลอน มัสก์” เลือกเขาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ไฟฟ้า “เทสลา”

ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ทำให้เวลามองเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

“ธนาธร” มองไม่เหมือนคนอื่น

เขาคิดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานทำรถไฟ

การลงทุนด้านอุตสาหกรรมคมนาคมที่เคยคิดแต่จะซื้อเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ

ใช้งบประมาณมหาศาล

“ธนาธร” มั่นใจว่าคนไทยทำได้

เพราะเขาเคยทำชิ้นส่วนป้อน “เทสลา” มาแล้ว

งบฯลงทุนมหาศาลแทนที่ต้องจ่ายให้ต่างชาติ และกับ “สินค้า” และ “เทคโนโลยี”

เขาคิดอีกมุมหนึ่ง คือ นำเงินก้อนนี้เอากลับมาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในเมืองไทย

ได้ทั้งเทคโนโลยี สินค้า และสร้างงานให้กับคนไทย

“ธนาธร” ซุ่มไปดูโครงการไฮเปอร์ลูปที่ต่างประเทศ

ควักเงินส่วนตัวจ้างบริษัทชั้นนำในต่างประเทศศึกษาโครงการ “ไฮเปอร์ลูป” อย่างจริงจัง

ก่อนจะมาแถลงข่าวเมื่อวันก่อน

ประเด็นที่น่าสนใจที่เขานำเสนอ คือ แนวทางการพัฒนาประเทศ

ประเทศที่มาทีหลังมี 3 ทางเลือกในการพัฒนาเทคโนโลยี

1.การเดินตามผู้นำ ให้ผู้นำที่คิดเสร็จแล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้ซึ่งไทยเดินเส้นทางนี้มาตลอด

2.อาศัยความได้เปรียบจากการมาทีหลัง กระโดดข้ามลัดขั้นตอนไปเลย

ผมนึกถึงวิธีคิดของ “จีน” ที่เขาบุกอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ไม่สนใจรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

กระโดดข้ามไปดักหน้าเลย

เพราะจีนรู้ว่าถ้าสู้ในเรื่องรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

เขาสู้ญี่ปุ่นไม่ได้

แต่ถ้าเริ่มลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าก่อน

จีนมีโอกาสเป็นผู้นำในตลาดนี้

3.กล้าเลือกเส้นทางใหม่เลย

“ธนาธร” เสนอ “ไฮเปอร์ลูป” เป็น “ทางเลือกใหม่”

เพราะตอนนี้เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีใครเป็น “ผู้นำ”

เขาไม่ได้เสนอให้นำมาใช้เลย

แต่เสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ “ไฮเปอร์ลูป”

ถ้าใช้ได้ก็ลุยเลย

แต่ถ้าไม่ได้ “องค์ความรู้” ที่ได้จากการศึกษาก็จะนำไปใช้ในเรื่องเทคโนโลยีไฟฟ้า อวกาศ คมนาคม เกษตร ฯลฯ ได้

วันนี้อาจฟังดูเป็น “การหาเสียง” ของนักการเมืองคนหนึ่ง

แต่สำหรับผม “วิธีคิด” ของเขาน่าสนใจมาก

นึกถึง “เกาหลีใต้” ที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของเขาเคยเป็นสินค้าราคาคุณภาพต่ำ ราคาถูก

แต่วันนี้เขามี “ซัมซุง”

มีเทคโนโลยีที่แม้แต่ “สตีฟ จ็อบส์” ยังต้องนำมาใช้ใน “ไอโฟน”

เพราะเขากล้าคิด กล้าทำ

เชื่อมั่นว่า “ทำได้”

และมีฝันใหญ่ที่จะเป็น “ผู้นำ”

“เกาหลีใต้” ทำได้

แล้วทำไมเมืองไทยไม่กล้าคิด

แบบนี้บ้าง