ความน่าเชื่อถือ

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถ้าถามว่าใครล้มเหลวที่สุด

หลายคนคงจะตอบว่า “ประชาธิปัตย์”

เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.ใน กทม.เลย

ในภาคใต้ก็สูญเสียที่นั่งไปจำนวนมาก

จำนวน ส.ส.รวมเหลือแค่ 50 กว่าคน

แต่ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ถือว่าล้มเหลวที่สุด

เมื่อเทียบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

องค์กรที่รับผิดชอบการเลือกตั้งครั้งนี้

ถ้าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกของประเทศ เราอาจจะให้อภัยได้

แต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง

มี กกต.หลายชุดที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง

แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะแย่เท่ากับครั้งนี้

ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและความน่าเชื่อถือ

ทุกครั้งของการเลือกตั้ง ประมาณ 3 ทุ่มเราก็จะรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

พรรคการเมืองจะเริ่มประกาศชัยชนะหรือจับมือตั้งรัฐบาลตั้งแต่คืนนั้น

วันรุ่งขึ้น กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งได้

แต่ครั้งนี้ข้อมูลผิดพลาดและสับสน จนหมดวันก็ยังไม่รู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ

ผ่านไป 4 วันเพิ่งประกาศตัวเลข ส.ส.เขตและคะแนนดิบของแต่ละพรรค

แต่ข้อมูลที่ประกาศมาก็สับสนและถูกตั้งคำถามหลายเรื่อง

แค่ตัวเลขผู้มีสิทธิลงคะแนนที่เป็นตัวเลขง่าย ๆ และต้องนิ่งตั้งแต่ก่อนจะลงคะแนนเลือกตั้ง

แต่กลับไม่ตรงกับตัวเลขในวันที่ประกาศผลการเลือกตั้ง

และอื่น ๆ อีกมายมาย

สมัยแอนะล็อกที่ใช้มือจดคะแนน ส่งคะแนนด้วยเสียงทางโทรศัพท์ ผลการเลือกตั้งยังเร็วกว่ายุคนี้เลยครับ

ยุคนี้ 4G กำลังจะเป็น 5G แล้ว

แทนที่จะเร็วขึ้น

กลับช้ากว่าเดิมอีก

คะแนนผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้าที่นิวซีแลนด์ก็มาไม่ทันจนกลายเป็น “บัตรเสีย”

ระบบการบริหาร การติดตามงาน การแก้ปัญหาของ กกต.เป็นอย่างไรชัดเจนที่สุดจากเรื่องนี้

ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานกับการเลือกตั้งที่ต้องการความยุติธรรมทำให้เกิดคำถามมากมายกับ กกต.

และนำไปสู่เรื่องสำคัญนั่นคือ “ความน่าเชื่อถือ”

เวลาคนไม่เชื่อถือเรื่องความยุติธรรมแล้ว

บางทีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุบัติเหตุหรือความไร้ประสิทธิภาพขององค์กร

แต่พอคนไม่เชื่อถือ

เขาก็จะตีความว่าเป็นเรื่องทุจริตหรือการโกง

เรื่องนี้น่ากลัวมากครับ

เพราะในการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองในการชิงอำนาจการบริหารประเทศ

“แพ้-ชนะ” เป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่ถ้าประชาชนหรือคนดูรู้สึกว่ากรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินไม่ยุติธรรม

อารมณ์ความรู้สึกจะแรงกว่าการพ่ายแพ้ธรรมดา

เพราะคนที่ใช้สิทธิ เขาจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ “เสียง” ของเขา

นี่จะเป็น “ระเบิดเวลา” ของการเมืองไทยในอนาคต

เรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” สำคัญนะครับ

จะทำงานอย่างไร

จะดำรงตนอย่างไรให้คนเชื่อถือ

บทเรียนจาก กกต.ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับคนทำงาน

วันนี้ถ้าเราทำงานอยู่แล้วมีใครเดินมาวิจารณ์เรา

“กกต.น่าดูเลย”

ผมว่าคนจะโกรธน่าดูเลย

นี่คือ เรื่องความน่าเชื่อถือ