จุดพลิกเกม

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ต้องถือว่าแรงมาก

ใคร ๆ ก็บอกว่ารถยนต์ไฟฟ้ายังไงก็ต้องมา ทานกระแสโลกไม่ได้

ค่ายรถยนต์เริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างจริงจัง

มีทั้ง Nissan Leaf, Hyundai IONIQ Electric, Hyundai KONA Electric SE/SEL, KIA Soul EV, NEW MG ZS EV และ BYD

ยังไม่นับ Mine ของค่าย EA พลังงานบริสุทธิ์ ที่จะเริ่มมีรถวิ่งบนถนนช่วงปลายปี และ BMW ที่วางแผนรุกตลาดนี้
อย่างเต็มตัว

แต่ความแรงของกระแสสวนกับยอดขายในโลกแห่งความเป็นจริง

เชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่มกราคมถึงเมษายนปีนี้ที่แต่ละค่ายเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่งได้ 46 คัน แบ่งเป็น Nissan Leaf 42 คัน Hyundai IONIQ Electric 4 คัน

คำถามก็คือ ปัญหาของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ไหน

ถ้าถามผู้บริโภคที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้า คำตอบสั้น ๆ ก็คือ “ราคา”

Nissan Leaf 1,990,000 บาท

Hyundai IONIQ Electric 1,749,000 บาท

Hyundai KONA Electric SE/SEL 1,849,000 บาท

KIA Soul EV 2,297,000 บาท

BYD 1,890,000 บาท

คนที่อยากลองของใหม่ แต่เจอ “ราคา” ระดับนี้ก็ถอยทุกราย

ต้องยอมรับว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นของใหม่ของคนไทย

ทุกคนยังมีจินตนาการเรื่องปัญหาเยอะมาก

ถ้าแบตหมดจะทำอย่างไร ลุยน้ำได้หรือเปล่า ฯลฯ

“ความเสี่ยง” ของ “สินค้าใหม่” คือ “ความใหม่” ไม่คุ้นชิน

ดังนั้น เมื่อราคารถยนต์ไฟฟ้าสูงมาก คนก็ไม่ซื้อ

“ราคา” เกิน “ความเสี่ยง” ครับ

จนวันก่อน ค่าย MG เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า NEW MG ZS EV

NEW MG ZS EV เป็นรถยนต์นำเข้าทั้งคันจากจีน

ได้สิทธิพิเศษทางภาษี และ MG ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาต่ำจากบริษัทแม่

ราคาเปิดตัวจึงอยู่ในระดับที่จับต้องได้ 1,190,000 บาท

พร้อมปิดจุดอ่อนเรื่องความไม่มั่นใจอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ด้วยการรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปีหรือ 180,000 กิโลเมตร

เจอราคานี้เข้าไป บอกได้เลยว่า “ชนะเลิศ”

เพราะราคาระดับนี้ คนพร้อมเสี่ยงกับ “ของใหม่”

แค่ 3 วันแรกหลังการเปิดตัวมีคนจองเข้ามาแล้ว 200 คัน

เดือนหน้าก็ส่งมอบและให้ทดลองขับได้แล้ว

ทุกการเปลี่ยนแปลง จาก “สิ่งเก่า” สู่ “สิ่งใหม่”

เราจะต้องผ่านข้อต่อ “ความลังเล” จะไปหรือไม่ไปดี

จะมีบางสิ่งบางอย่างอุด “ข้อต่อ” นี้ เป็นปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่าง

แต่พอมีใครทะลวงปมปัญหาดังกล่าว มันจะกลายเป็น “จุดพลิกเกม” ทันที

ผมเชื่อว่าการตั้งราคาแบบจับต้องได้จะทำให้คนกล้าเสี่ยงกับ “ของใหม่” อย่างรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

เป็น “จุดพลิกเกม” ของรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย

ระยะทางวิ่ง 337 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งเหลือเฟือสำหรับการขับปกติใน กทม.

สถานีชาร์จไม่สำคัญมากนัก เพราะกลับถึงบ้านก็ชาร์จได้ ใช้เวลา 6.5 ชั่วโมง

ชาร์จตอนกลางคืน เช้าก็เต็มแล้ว

ถ้าไปต่างจังหวัดค่อยวางแผนว่าจะไปชาร์จเพิ่มที่ไหน ซึ่งก็มีสถานีชาร์จกระจายอยู่ทั่วไป

ไม่ค่อยสะดวกเหมือนปั๊มน้ำมัน

แต่สำหรับคนที่นาน ๆ เดินทางไปต่างจังหวัดสักครั้ง เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่

ผมไม่รู้ว่าค่ายรถยนต์อื่น ๆ เจอการตั้งราคารถยนต์ไฟฟ้าของ MG เข้าไปจะแก้เกมอย่างไร

ถ้าแก้เกมช้า MG รับเละครับ

ตอนนี้ก็ลุ้นว่า Mine รถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยจะตั้งราคาเท่าไร

ถ้าอยู่ในระดับเดียวกับ MG หรือต่ำกว่าเล็กน้อยก็คงจะเอาตัวรอดได้

“รถยนต์ไฟฟ้า” ยังเป็นตลาดที่น่าติดตาม

กระแสโลกไปแล้ว แต่เมืองไทยจะแจ้งเกิดได้เมื่อไร

น่าสนใจครับ