เกมหลายมิติ

แฟ้มภาพ

เพราะโลกเป็นหนึ่งเดียว

เชื่อมโยงและโยงใยกัน

ความขัดแย้งหนึ่งจึงส่งผลสะเทือนถึงทุกประเทศในโลก

โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

มีคนบอกว่าตอนนี้จิ้มไปตรงจุดไหนของโลกก็มีแต่ “ความขัดแย้ง” ที่เป็น “ระเบิดเวลา” รอวันปะทุขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า “สหรัฐ-จีน”

ความขัดแย้งระหว่าง “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้”

“อินเดีย-ปากีสถาน” เรื่อง “แคชเมียร์”

การประท้วงของชาวฮ่องกงที่ไม่รู้ว่า “จีน” จะแก้ปัญหาด้วยการปราบหรือไม่

ปัญหา “เบร็กซิต” แบบ “โนดีล” ของอังกฤษ ฯลฯ

ความขัดแย้งดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก ในขณะที่การทำธุรกิจต้องการ “ความแน่นอน”

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ ไม่มีอะไรแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลาง “ความไม่

แน่นอน” มีบางเรื่องที่เรากำหนดได้ หรืออยู่ในอำนาจของเรา

กับเรื่องที่กำหนดอะไรไม่ได้ นอกเหนือ

อำนาจของเรา

เขาบอกว่าให้พยายามทำในสิ่งที่เรากำหนดได้ก่อน

แต่สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากอำนาจของเรา

มีสิ่งเดียวที่ทำได้ คือ การจับตามองอย่างใกล้ชิดและประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ

และมิติการมองต้องมองอย่างกว้าง

เพราะความขัดแย้งบางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการเมือง

เช่น “อินเดีย-ปากีสถาน”

ตอนนี้แค่เรียกทูตกลับ

แต่ถ้าขัดแย้งแรงขึ้นและบานปลายไปถึงการใช้กำลังทหาร

เพราะ 2 ประเทศนี้เคยปะทะกันจนต้องปิดน่านฟ้า

ผลที่ตามมา คือเครื่องบินสายการบิน

ต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อความปลอดภัยหลบ

เสียทั้งเวลาและน้ำมัน ปั่นป่วนไปทั่ว

เขาบอกว่า “ความขัดแย้ง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็เหมือนกับการโยน “ก้อนหิน” ลงน้ำ

ต้องเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นแน่นอน

เรื่องที่สอง มีบทเรียนที่น่าศึกษาจากเกมการชิงไหวชิงพริบของแต่ละประเทศ

อย่างเช่น สงครามการค้า “สหรัฐ-จีน” เราจะเห็นลีลา “พ่อค้า” แบบ “โดนัลด์ ทรัมป์”

ที่ใช้ “ความได้เปรียบ” เรื่องความ

ยิ่งใหญ่ของสหรัฐเป็นจุดเริ่มต้นการเจรจา

มักเริ่มด้วยการ “ขู่” แรง ๆ

แต่พร้อมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา

เจอรายไหนแข็ง ๆ ไม่ยอม ก็จะเปลี่ยนท่าทีเป็น “มิตร” ทันที

ในขณะที่เห็นลีลามังกรแบบจีน

อย่างล่าสุด พอ “ทรัมป์” เล่นเกมแรงด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน 10%

กะทำให้สินค้าจีนในสหรัฐแพงขึ้น จะได้ขายได้น้อยลง

เกมนี้ “สหรัฐ” เหนือกว่า “จีน”

เพราะ “จีน” ส่งออกสินค้าไป “สหรัฐ” มากกว่านำเข้าสินค้าจากสหรัฐ

เล่นเกมขึ้นภาษีสู้กัน “จีน” เสียเปรียบ

แต่เขาพลิกเกมใหม่ แทนที่จะสู้กันตรง ๆ เรื่อง “ภาษี”

จีนเปลี่ยนมาเล่นเกมการเงิน คือ ปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนลงมาประมาณ 10% ดื้อ ๆ

พอค่าเงินอ่อน ราคา “สินค้าจีน” ที่ส่งไปสหรัฐก็จะต่ำลง 10%

เจอมาตรการขึ้นภาษี 10% ก็ไม่สะเทือน

เพราะสุดท้ายราคาสินค้าก็จะใกล้เคียงกับราคาเดิม ไม่ได้แพงขึ้น

ผมนึก “มวยไทย” ที่นักมวยที่

หมัดหนักเดินสาวหมัดเข้ามา

แทนที่คู่ต่อสู้จะยืนแลกหมัด

หรือเตะหนัก ๆ ซึ่งการ์ดอาจตกได้

นักมวยที่เก๋า ๆ เขาจะแก้เกมใช้การเตะตัดขาหน้า การ์ดก็ไม่ตก

เพราะนักมวยตอนชกหมัด ขาหน้าเป็นฐานหลักที่สำคัญ

เจอเตะตัดขาหน้าเบา ๆ

นักมวยหมัดหนักหัวคะมำกันทุกราย

นี่คือบทเรียนที่ได้เห็นจาก “พญามังกร”