ความจริงของ NETFLIX

วันก่อน ผมเพิ่งซื้อหนังสือ “ทำไม NETFLIX ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง”

ซื้อเพราะอยากรู้วัฒนธรรมการทำงานของ NETFLIX

คนเขียนชื่อ “แพตตี้ แมคคอร์ด” เป็นอดีตเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่ NETFLIX

Advertisement

วิธีการอ่านหนังสือ HOW TO ของผมก็คือ เปิดหน้าสารบัญ

ดูเรื่องที่น่าสนใจที่สุดแล้วเปิดอ่านก่อน ไม่ต้องอ่านเรียงตามบทเหมือนนิยายหรือหนังสืออื่น ๆ

เพราะหนังสือ HOW TO ของฝรั่งส่วนใหญ่ เป็นหนังสือเพื่อการใช้งาน

Advertisement

เราสามารถประกอบร่างหรือเรียบเรียงใหม่ทีหลังได้

เล่มนี้ ผมเลือกอ่านบทที่ชื่อว่า “ศิลปะของการจากลาด้วยดี” เป็นบทแรก

เพราะตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และกระแส Disrupt จากเทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังทำลายล้างธุรกิจดั้งเดิม

Advertisement

การปลดพนักงานเป็นเรื่องหนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ทำอย่างไรเราจะจากลากันด้วยดี ฟังดูแล้ว “โรแมนติก” ไปหน่อย

เพราะพนักงานที่ถูกปลดออกย่อมไม่รู้สึกดีอย่างแน่นอน

เขาย่อมรู้สึกว่าเป็น “ผู้ถูกกระทำ” แม้จะเข้าใจความจำเป็นขององค์กรก็ตาม

“แพตตี้ แมคคอร์ด” บอกว่าเธอไม่ชอบให้นำเรื่อง “ความผูกพัน” มาใช้ในเชิงธุรกิจ

ในการสัมมนาครั้งหนึ่งที่เธอไปพูดให้พนักงานฝ่ายบุคคลเต็มห้องฟัง

เธอตั้งคำถามว่า “ไหนมีใครเคยปลดคนออกจากงานบ้าง” ทุกคนยกมือ

“แล้วใครเคยปลดสมาชิกในครอบครัวออกบ้าง”

ไม่มีใครยกมือเลย

ครับ เธอกำลังบอกว่าอย่าใช้คำว่า “เราอยู่กันแบบครอบครัว” ในที่ทำงาน

เพราะความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

พนักงานมักจะเดินมาขอคำแนะนำในการทำงานจาก “แมคคอร์ด”

เธอจะเริ่มต้นแนะนำเรื่องการพัฒนาตัวเอง

“คุณควรจะเป็นนักเรียนผู้เรียนรู้ไปตลอดชีวิต คุณควรจะเสริมทักษะใหม่และหาประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องหาจากบริษัทเดิมก็ได้”

และสรุปสัจธรรมของพนักงานประจำ

“ความจริงก็คือบางครั้งคุณได้รับการว่าจ้างจากบริษัทหนึ่งเพื่อให้ทำสิ่งหนึ่ง และคุณทำมันแล้ว ทุกอย่างก็จบ

ถ้าฉันจ้างคนมาทำโรงจอดรถให้ใหม่ พอพวกเขาทำงานจนเสร็จ ฉันก็ไม่ต้องการให้เขามาซ่อมหลังบ้านฉันแล้ว”

เธอกำลังบอกว่าทุกคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

เคยประสบความสำเร็จในงานของตัวเองมาก่อน

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปหรือความต้องการขององค์กรเปลี่ยนไป

เขาก็ต้องการ “คน” อีกแบบหนึ่ง วิธีการที่ดีที่สุด คือ การพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่ใส่ร้ายป้ายสีเขา

ไม่ตัดสินว่าเขาผิดพลาด แต่แจกแจงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะกับ

สิ่งที่องค์กรต้องการ มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและไม่ใช่ความผิดพลาด

ไม่ควรจะใช้กลวิธีการทำร้ายกัน เช่น การย้ายไปตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญเพื่อกดดันให้พนักงานลาออก

“เมื่อเราจ้างใครมาทำงานแล้วผลปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่กระบวนการจ้างงาน ไม่ใช่ตัวบุคคล”

“คุณจ้างคนผิด ไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรทำให้เขารู้สึกอย่างนั้น”

ในมุมของพนักงานนอกจากจะต้องเข้าใจ “ความจริง” ที่แสนจะเจ็บปวดเรื่องนี้แล้ว

การถูก “ให้ออก” ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีคุณค่า

เพียงแต่เขาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

“คนที่ไม่ประสบความสำเร็จในบริษัทหนึ่งอาจไปต่อแล้วเป็นดาวเด่นในอีกบริษัทหนึ่งก็ได้

หลายครั้งที่ฉันพบว่าคนที่คิดว่าไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไรก็ไปรุ่งที่อื่นเพราะเขาอยู่ถูกที่ถูกทาง”

ปัจจุบัน “แพตตี้ แม็คคอร์ด” ไม่ได้ทำงานกับ NETFLIX แล้ว

เธอกับ “รีด เฮสติงส์” ทำงานด้วยกันมานาน

วันหนึ่ง “รีดกับฉันต่างเห็นพ้องตรงกันว่าได้เวลาที่ฉันจะไปแล้ว”

และ “ฉันเคารพหลักการของรีดเรื่องการเลือกทีมในอนาคตของตัวเอง”

“แพตตี้ แมคคอร์ด” ออกไปด้วยความรู้สึกที่ยังเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง

เธอทำ “โรงจอดรถ” เสร็จแล้ว

งาน “ซ่อมหลังบ้าน” เป็นงานของคนอื่น