โคเรีย คิง

วิกฤต “โคเรีย คิง” ที่เกิดขึ้นวันนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก

“โคเรีย คิง” เป็นกระทะจากเกาหลีที่ใช้ระบบขายตรงแบบ “ทีวี ไดเร็ค-โอ ช็อปปิ้ง” ที่ขายดีมาก

เขาใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก

รูปแบบโฆษณาก็คล้าย ๆ กับที่เราเห็น

“จอร์จ” กับ “ซาร่า” ขายเครื่องออกกำลังกาย

กลยุทธ์การโชว์การใช้ผลิตภัณฑ์ ตั้งราคา ลดราคา กระตุ้นการซื้อให้โทร.เข้ามาทันที

เหมือนกันเปี๊ยบเพียงแต่เขาใช้พรีเซ็นเตอร์ คือ

“วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา

ยิงโฆษณาถี่ยิบ จนคนเรียกว่า “กระทะวู้ดดี้”

วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นจากมีคนหนึ่งโพสต์รูปกระทะโคเรีย คิง ที่ขายในสิงคโปร์ ราคาคิดเป็นเงินไทยแค่ 600 บาท

เหมือนจะบอกว่าที่สิงคโปร์ขายแค่ 600 เมืองไทยขายใบละ 3,000 กว่าบาท

ประกายไฟเกิดขึ้นจากเรื่องแค่นี้เอง

จากนั้นก็มีคนแชร์ต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกระแส

กระแสแรงมาก จนนึกว่า “โคเรีย คิง”

ธุรกิจขายตรงกระทะปกติธรรมดา เป็น “อาชญากรรม”

มีการชี้แจงจากเจ้าของธุรกิจว่า กระทะที่ขายที่สิงคโปร์เป็นคนละรุ่นกับที่ขายในเมืองไทย

เป็นกระทะแพนเค้ก ไม่ใช่กระทะสำหรับทำอาหาร

แต่กระแสโจมตีก็ไม่หยุด หน่วยงานต่าง ๆ ก็ออกมารับลูกกัน

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “โคเรีย คิง” ดังมาก

มีคนหยิบมาล้อเลียน และวิจารณ์อยู่เรื่อย ๆ

พอเกิดประเด็นขึ้นมาก็เลยมีการขุดคุ้ย

กันหนัก และตั้งประเด็นกันมากมายจนน่าตกใจ

ถึงขั้นจะขอดู “ต้นทุน” ของกระทะโคเรีย คิง

ผมว่าเรื่องนี้เริ่ม “ข้ามเส้น” แล้ว

จำข่าวเรื่องกาแฟสตาร์บัคส์ ในเมืองไทย ราคาแพงเป็นอันดับ 4 ของโลกได้ไหมครับ

เราจะตรวจต้นทุนกาแฟสตาร์บัคส์ไหมครับ

ต้นทุนกาแฟ ใคร ๆ ก็รู้ว่าต่ำแค่ไหน

ราคากาแฟสดในตลาดจึงมีตั้งแต่

20 บาท จนถึงหลัก 100 ของ “สตาร์บัคส์”

แต่ทำไมคนยังเข้าคิวซื้อ “สตาร์บัคส์” โดยเฉพาะตอนมีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1

เพราะเขารู้สึกว่ากาแฟร้านนี้อร่อยกว่า

หรือชอบนั่งในร้านบรรยากาศแบบนี้

หรือเชื่อมั่นในแบรนด์

หรือถือแก้วสตาร์บัคส์แล้วเท่

ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือก

ที่สำคัญ “การตั้งราคา” เป็นเรื่องปกติมากในแวดวงธุรกิจ

เป็นกลยุทธ์หนึ่งทางธุรกิจที่แต่ละคนมีสิทธิ์เลือกใช้

บ้าน “พฤกษา” ใช้กลยุทธ์ตั้งราคาต่ำ เพราะควบคุมต้นทุนได้ดี

กำไรต่อหน่วยน้อย แต่เน้นปริมาณ

แต่ “แสนสิริ” ทำโครงการ “98 ไวร์เลส” ขายคอนโดฯราคาแพงที่สุดในเมืองไทย

ตารางเมตรละ 550,000 บาท

ห้องเพนต์เฮาส์แพงสุด 650 ล้านบาท

เขาใช้กลยุทธ์ตั้งราคาสูง ขายจำนวนไม่มาก

ขายแค่ 77 ยูนิต

เหมือนกับกระเป๋าแอร์เมส ใบละเป็นล้าน กับกระเป๋าหนังในเมืองไทย ราคา 5,000 บาท

“ข้าวมันไก่เจ๊อ้วน” กับ “ข้าวมันไก่โรงแรมมณเฑียร” ราคาก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน

“กระทะ” ก็เหมือนกับ “บ้าน-คอนโดฯ, กระเป๋า, ข้าวมันไก่”

เป็นสินค้าที่มีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น

ใครจะเลือกวาง “ตำแหน่งสินค้า” อย่างไรก็ได้

ประเด็นสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง

คือ 1.ธุรกิจนั้นมีการแข่งขันโดยเสรีหรือไม่

ไม่ใช่ “ผูกขาด”

ในระบบที่มีการแข่งขันโดยเสรี เราจะเคารพการตัดสินใจเลือกของ “ผู้บริโภค”

ทุกคนมีสิทธิ์เลือก

เรื่องที่ 2 สินค้านั้นเป็นสินค้าจำเป็นหรือไม่

เพราะถ้าเป็นสินค้าจำเป็น ในบางจังหวะรัฐก็ต้องออกมาควบคุมดูแล หากราคามีความผันผวนและส่งผล

กระทบต่อประชาชน

กรณี “กระทะโคเรีย คิง” ไม่เข้าข่าย

ทั้ง 2 เรื่อง

ที่ผมสงสัยมากก็คือ ทำไมไม่มีใครตั้งคำถามบ้างว่า ถ้าเรื่องสิงคโปร์ หรือประเทศข้างบ้านเราขาย “โคเรีย คิง” รุ่นเดียวกันราคาถูกกว่าเมืองไทย

มาก ๆ เป็นเรื่องจริง

ทำไมไม่มีใครหิ้ว หรือนำเข้ามาขายในเมืองไทย

กำไรเท่าตัวเห็น ๆ

สินค้าก็ดัง กำไรก็ล่อใจขนาดนี้ พ่อค้าคนไทยไม่น่าจะพลาด

มีเพียงเรื่องเดียวที่ “โคเรีย คิง” ต้องพิสูจน์ ก็คือ เรื่องคุณภาพสินค้า

เรื่องนี้ง่ายมากเลยครับ ถ้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถร้องเรียนหน่วยงานด้านนี้ได้

เหมือนกับสินค้าทั่วไป


“หลักการ” ก็มีเพียงแค่นี้