วิถีโค้ง

อย่าหาว่าเขียนแต่ “ข่าวร้าย” เลย

แต่ “ข่าวดี” ทางเศรษฐกิจหาไม่เจอจริง ๆ ครับ

แค่การแถลงข่าวตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับธนาคารแห่งประเทศไทย

ก็ “หนาว” แล้ว

“หนี้สินครัวเรือน” พุ่งกระฉูด

“หนี้เสีย” ขยับขึ้นเรื่อย ๆ

ธุรกิจขนาดเล็กหนักมากครับ

ตัวเลข NPL ของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ธนาคารไหนที่จับกลุ่มเอสเอ็มอีจะรู้ดี

ส่วนธุรกิจใหญ่ที่น่าเป็นห่วงในวันนี้

คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ผมคุยกับผู้ประกอบการอสังหาริม

ทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่ง

เขาบอกว่าประเมินกับเพื่อนฝูงในวงการ

เชื่อไหมครับว่าแค่ 10 รายใหญ่

อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย มีอสังหาริม

ทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้วและรอขายอยู่ประมาณ 1 แสนกว่ายูนิต

อย่าแปลกใจที่ตอนนี้ทุกค่ายพยายามระบาย “ของเก่า” ด้วยกลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบ

เอา “เงินสด” เข้ากระเป๋าก่อน

ปัญหาใหญ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็คือ “ดีมานด์” หรือ “ความต้องการ” ของผู้บริโภคยังมีอยู่

คนอยากได้บ้าน

แต่ “กู้” ไม่ผ่าน

คุณเศรษฐา ทวีสิน ของ “แสนสิริ” บอกผมในงานสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” วันก่อนว่า ตอนนี้เป็นการพิสูจน์ฝีมือ

ของคนทำธุรกิจ

การบริหารในช่วงเศรษฐกิจขาลง

ไม่เหมือนกับตอนขาขึ้น

เมื่อ 2 เดือนก่อนเขาเคยบอกว่าวางแผนตั้งรับ 18 เดือน

แต่วันที่เจอกัน คุณเศรษฐาบอกว่าตอนนี้ “คูณสอง”

เพราะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย

ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็บอกว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

“ความเชื่อมั่น” สำคัญมาก

เพราะถ้าคนไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้น

เขาจะเก็บเงิน ไม่ยอมเอาเงินมาใช้จ่าย

เงินก็ไม่สะพัด

ตอนนี้ “คอนเสิร์ต” หรือโชว์ต่าง ๆ เริ่มเจอผลกระทบแล้วครับ

คุยกับ “ผู้ใหญ่” ในวงการนี้ 2 รายพูดตรงกัน

“คอนเสิร์ต” เริ่มขายบัตรไม่หมด

และบางงานขายได้น้อยมาก

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คอนเสิร์ตหรือโชว์ต่าง ๆ ได้รับความนิยมมาก

เป็นกลยุทธ์หนีตายที่ทำกำไรของธุรกิจเพลง

เพราะช่องทางทำรายได้เก่า ๆ เช่น ขายแผ่นซีดี หรือรายได้จากยูทูบ ไปไม่รอด

แต่คนนิยมดู “คอนเสิร์ต” มากกว่า

ยิ่งเป็นศิลปินยุคปี 90 ยิ่งขายดี

เพราะคนดูคือคนที่มีกำลังซื้อ

เปิดจองไม่กี่วันก็หมด

“คอนเสิร์ต” จึงเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ

แต่ช่วง 3-4 เดือนนี้ ปรากฏการณ์นี้

เริ่มเปลี่ยนไป

การขายบัตรคอนเสิร์ตฝืดลง

ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนจัดเยอะเกินไป

จ่ายไม่ไหว

แต่อีกทางหนึ่งอาจเป็นเรื่อง “กำลังซื้อ”

ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องนี้ก็ถือว่า “น่ากลัว” ยกกำลังสอง

เพราะคนดูคอนเสิร์ตส่วนใหญ่เป็น “คนกรุง”

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีปัญหา มาจาก “กำลังซื้อ” ต่างจังหวัดหดหาย

แต่ “ชนชั้นกลาง” ในเมืองกรุงยังดีอยู่

ถ้าวันนี้ “กำลังซื้อ” ของ “ชนชั้นกลาง” คนกรุงเริ่มหมด

สินค้าฟุ่มเฟือยอย่าง “คอนเสิร์ต” ได้รับผลกระทบ

เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่

เพราะแม้ “ชนชั้นกลาง” เมืองกรุงเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศแล้วจำนวนไม่ได้เยอะมาก

แต่คนกลุ่มนี้เสียงดัง

ในทางการเมือง ประเด็นนี้น่ากลัว

แต่ท่ามกลาง “คอนเสิร์ต” ที่เริ่มขายฝืด

มีศิลปินกลุ่มหนึ่งที่ยังขายดี

…ศิลปินเกาหลีครับ

บัตรมีเท่าไรก็หมด

เพราะคนดูส่วนใหญ่เป็น “เด็กวัยรุ่น”

เงินค่าบัตรบางคนก็เก็บเงินเอง แต่บางกลุ่มก็ขอเงินจากพ่อแม่

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คอนเสิร์ตไทยมีปัญหา

เพราะ “พ่อแม่” เงินหมดแล้ว