เทกโอเวอร์

คอลัมน์ market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อนคุยกับ “พี่จิ๋ม” สุวภา เจริญยิ่ง อดีตซีอีโอหลักทรัพย์ธนชาต ผู้นำบริษัทต่าง ๆ

เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมากที่สุดในประเทศไทย

และเป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง “ดีล” ต่าง ๆ มากมาย

เราคุยกันเรื่องกลยุทธ์การเทกโอเวอร์บริษัทต่าง ๆ

บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายใช้กลยุทธ์นี้

ในการขยายกิจการ

หรือเรียกว่า “ใช้เงินทำงาน”

คือแทนที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง

กว่าจะเติบโตต้องใช้ “เวลา” นาน

และลงทุนไปก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า

นักธุรกิจใหญ่จะเลือกใช้วิธี

“เทกโอเวอร์”

เลือกกิจการที่สำเร็จอยู่แล้ว

ใช้ “เงิน” ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของตัวเองทำงาน

ซื้อ…

เพื่อร่นเวลา “ความสำเร็จ” ลง

ถามแบบซื่อ ๆ ว่า คนที่เทกโอเวอร์ได้อะไรจากกลยุทธ์นี้บ้าง

“พี่จิ๋ม” บอกว่า ถ้าเทกโอเวอร์บริษัทไหนก็ตาม

สิ่งที่ต้องได้มี 3 อย่าง

1.บริษัทหรือสินค้า

2.ยอดขายหรือตลาด

3.คนทำงาน

ข้อ 1 และ 2 ชัดเจน

จ่ายเงินซื้อปั๊บ เราก็ได้สินค้าใหม่เข้าพอร์ตทันที

ได้ยอดขายของสินค้าตัวนั้น

ได้แบรนด์

ได้ตลาด

แต่ข้อที่ 3 เรื่อง “พนักงาน”

คนส่วนใหญ่ชอบลืม

ลองนึกดูสิครับ หากเราเริ่มต้นธุรกิจใหม่อะไรก็ตาม กว่าจะฝึกคนใหม่ได้ต้องใช้เวลานานมาก

แต่ถ้าเราซื้อกิจการ เราจะได้พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มานานทันที

ได้ทั้งโนว์ฮาวและประสบการณ์

ร่นเวลาการฝึกคนใหม่เยอะมาก

ดังนั้นถ้าใครซื้อบริษัทแล้วมือบริหารลาออกหมด

ถือว่าเทกโอเวอร์แล้วไม่คุ้ม

ครับ ในมุมของ “คนซื้อ” นอกเหนือจาก 3 เรื่องนี้แล้ว ผมเชื่อว่า “ยักษ์ใหญ่” ทั้งหลายคงคิดต่อยอดอีกหลายชอต

เขารู้ว่าตัวเขาเองมี “จุดแข็ง” ตรงไหน

เมื่อเทกโอเวอร์บริษัทใหม่เสร็จ เขาจะใช้ความได้เปรียบจากความเป็น “ยักษ์ใหญ่” ของเขาช่วยบริษัทใหม่ได้อย่างไร

1 + 1 ต้องไม่เท่ากับ 2

ต้องมากกว่า 2

เช่น เรื่องต้นทุนการเงิน

นักธุรกิจใหญ่ ๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ที่แบงก์คิดกับเขาต่ำมาก

รายเล็ก ๆ กู้กัน 7-8%

รายใหญ่ 2% ครับ

ยังไม่นับระบบขนส่ง อำนาจการ

ต่อรองสินค้า ฯลฯ

“ยักษ์ใหญ่” ได้เปรียบ

นอกจากนั้นแต่ละบริษัทก็จะมี

“จุดเด่น” ที่แตกต่างกัน

อย่างกรณี “เอ็มเค สุกี้” เทกโอเวอร์

“แหลมเจริญซีฟู้ด”

นอกเหนือจากเรื่องต้นทุนการเงิน อำนาจต่อรองการซื้อวัตถุดิบหรือ

ค่าเช่าพื้นที่ ฯลฯ

ยังมีวิชาหนึ่งที่ “เอ็มเค สุกี้” ช่วย “แหลมเจริญซีฟู้ด” ได้

นั่นคือ วิชาการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว

และการควบคุมคุณภาพ

เรื่องแบบนี้ถือเป็น “คัมภีร์” สู่ความสำเร็จที่ยากจะหาคนเลียนแบบได้

มีเคล็ดวิชาบางอย่างที่คนอื่นไม่รู้

“แหลมเจริญซีฟู้ด” ตอนนี้มีแค่ 20 กว่าสาขา

ยังควบคุมคุณภาพได้

แต่ถ้าจะขยายเป็น 100 สาขา

ต้องใช้เคล็ดวิชาที่ไม่เหมือนกับ 20 สาขา

วิชาแบบนี้ “เอ็มเค” เขาเก่งครับ

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

เรื่อง “ความสด” ของ “วัตถุดิบ”

ไม่ว่าจะเป็น “เนื้อสัตว์” หรือ “ผัก”

“ความสด” จะขึ้นกับปัจจัย 2 อย่าง

“เวลา” กับ “ความเย็น”

จะทำอย่างไร

เรื่องแบบนี้เป็น “โนว์ฮาว” ที่ “เอ็มเค” เชี่ยวชาญครับ

ดีลการเทกโอเวอร์ “แหลมเจริญซีฟู้ด” ครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา

1 + 1 มากกว่า 2 แน่นอน