ลำดับ “ความสำคัญ”

เห็นข่าวใน “ประชาชาติธุรกิจ” เรื่องใบ “ตม.30” ที่เป็นอุปสรรคขวางการลงทุนของต่างชาติแล้ว

นึกถึงเรื่องที่มีการเสนอให้เปิด “ฟรีวีซ่า” ให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย

แต่ถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศ คัดค้าน

ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคง”

ผมเพิ่งคุยกับน้องคนหนึ่งเรื่อง “วิธีคิด” ของผู้บริหารประเทศ

คนที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” หรือ “รัฐมนตรี” ต่างคนต่างที่มา

ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนสอนเรื่องการเป็น “รัฐบาล”

ทุกคนทำงานอย่างหนึ่งมาก่อน แล้วค่อยมาเป็นรัฐบาล

ทำงานอะไรมานาน ๆ นอกจากจะมี

“ความรู้” หรือ “ประสบการณ์” ในเรื่องนั้นแล้ว

“ประสบการณ์” ที่สั่งสมมานาน ก็ก่อตัวกลายเป็น “กรอบ” ปิดกั้นไม่ให้วิธีคิดอื่นเข้ามา

คิดอะไรก็จะเริ่มต้นจาก “กรอบ” นี้

คนที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน

คิดอะไรก็จะมี “กรอบความคิด” แบบ “นักธุรกิจ”

เช่นเดียวกับ “นายกรัฐมนตรี” ที่มาจาก “ทหาร”

“กรอบความคิด” ก็จะเป็นแบบ “ทหาร”

การลำดับความสำคัญของการทำงาน ก็จะเป็นไปตาม “กรอบประสบการณ์”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.

ประวิตร เป็น “นายทหาร” มาทั้งชีวิต

เป็น “ข้าราชการประจำ” ที่คุ้นชินกับกฎกติกาแบบ “ป้องกันตัวเอง”

ไม่ทำ-ไม่ผิด

ทำมาก มีโอกาสผิดมาก

ไม่เหมือนภาคเอกชน ที่พร้อม “เสี่ยง”

“ทำ” ดีกว่า “ไม่ทำ”

ลำดับความสำคัญในใจของคนที่เคยเป็นทหารมาก่อน จะเริ่มต้นที่ “ความมั่นคง”

“งบประมาณ” ก็เริ่มต้นแบบนี้

สังเกตไหมครับ เขาไม่เคยรู้สึกเลยว่า งบประมาณที่ซื้อ “รถถัง” ที่เคยใช้งานมาแล้ว 2,000 กว่าล้านบาท เป็นเรื่องไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในสถานการณ์ที่ไทยไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร

และมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ

พูดเรื่อง “น้ำท่วม” พล.อ.ประยุทธ์ก็จะบ่นว่า ไปที่จังหวัดก็มีแต่คนขอเงิน

และบอกว่า รัฐบาลไม่มีเงิน

“น้ำท่วม” คนเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

กับการซื้อ “รถถัง”

เขาจัดลำดับความสำคัญให้เรื่อง “รถถัง” สำคัญกว่า

ไม่เคยบ่นว่า “ไม่มีเงิน” สำหรับเรื่องการจัดซื้อ “อาวุธ” สักครั้งเดียว

อย่าแปลกใจที่คนไทยจะบริจาค

เงินให้กับ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” เพื่อช่วยเหลือชาวอุบลราชธานี มากกว่าบริจาคให้รัฐบาล

ทั้งที่รู้ว่าระบบการช่วยเหลือของ “บิณฑ์” ไม่ได้เป็นระบบมากนัก

แต่เขาจริงใจในการช่วยเหลือ แจกเงินให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนกันเห็น ๆ

คนที่บริจาคเขายอมรับได้ว่าอาจเกิดการรั่วไหลบ้าง หรือมีชาวบ้านที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงมารับเงินบ้าง

การทำงานท่ามกลางวิกฤต จะทำตามขั้นตอนแบบปกติ

คนที่เดือดร้อนตายพอดี

การจัดลำดับ “ความสำคัญ” ของรัฐบาลชุดนี้ เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา

เพราะเขาคิดในมิติ “ความมั่นคง” ก่อนเรื่องอื่น

และบางทีมาตรการที่ออกมาเป็นการป้องกันคนเลวไม่กี่คน แต่ทำให้คนดีจำนวนมากทำงานไม่สะดวก

อย่างเช่น เรื่อง “แรงงานต่างด้าว” ที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ วุ่นวาย และเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจมากมาย

มาวันนี้เรื่องใบ ตม.30 ก็เช่นกัน คราวนี้คนที่เดือดร้อน คือ แรงงานต่างชาติที่มีทักษะ

เขาได้ใบอนุญาตทำงานแล้ว แต่ถ้าย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง

คิดในมิติ “ความมั่นคง” เรื่องการป้องกันการก่อการร้าย หรืออาชญากรรม เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

แต่ถ้าคิดในมุม “คนดี” ที่มาทำงานที่เมืองไทย

ขั้นตอนนี้ยุ่งยากมาก

แบบนี้ไปทำงานที่ประเทศอื่นดีกว่า

ไม่แปลกที่สถานทูต 12 ประเทศ จะร้องเรียนไปที่รัฐบาลไทย

ถ้ารัฐบาลเป็นนักบริหาร หรือคนที่เคยทำงานภาคเอกชน จะเข้าใจว่า “ขั้นตอน” ที่ยุ่งยาก เป็น “ต้นทุน” สำคัญของการทำธุรกิจ

ทั้งเรื่อง “เงิน” ที่ต้องจ่ายเพิ่ม

และ “เวลา” ที่ต้องเสียไป

ในวันที่เศรษฐกิจไทยกำลังเสื่อมทรุด และเชื่อกันว่า ไตรมาสสุดท้ายต่อเนื่องถึงปีหน้าจะหนักกว่านี้

รัฐบาลจะต้องจัดลำดับ “ความสำคัญ” ในเรื่อง “วิธีคิด” ใหม่

ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจไทยหนักแน่