“หนุ่มเมืองจันท์” เขียน ชิม ช้อป “ใช่” เหรอ

คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์ “หนุ่มเมืองจันท์”

มีคนถามว่ารู้สึกอย่างไรกับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ของรัฐบาล ผมบอกเขาว่าไม่ได้รู้สึก “ลบ” กับโครงการนี้มากนัก มีบางเรื่องก็ชื่นชม

“ชิม ช้อป ใช้” คือ แนวคิดการเอาเงินใส่กระเป๋าชาวบ้าน ให้จับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการเติมน้ำมันให้กับเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ชื่อ “การบริโภคภายในประเทศ”

คนไม่มีเงิน-เศรษฐกิจไม่ดี ก็เติมเงินเข้ากระเป๋าประชาชน ถ่ายน้ำมันจากเครื่องยนต์ “การใช้จ่ายภาครัฐ” เพราะเป็นงบประมาณของรัฐบาล แต่เอามาใส่เครื่องยนต์อีกตัวหนึ่ง

วิธีนี้เร็วกว่าการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐอีก ฉีดวันนี้ พรุ่งนี้ใช้ได้เลย

ถ้าเป็นรัฐบาลยุคก่อน โครงการนี้จะโดนประณามว่าเป็นโครงการประชานิยม แต่ถ้าเป็นรัฐบาลนี้ เขาเรียกว่าโครงการประชารัฐ “รัฐ” เอาเงินใส่กระเป๋า “ประชา”

ถามว่าได้ผลไหม ผมเชื่อว่า “ได้”

คนเอาไปจับจ่ายใช้สอยจริง แต่จะหมุนกี่รอบนั้นขึ้นอยู่กับ “วิธีการ” เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี และโลกนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดทั้งหมด

“ชิม ช้อป ใช้” มี 2 เป้าหมายสำคัญ

1.กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเงินให้ประชาชนใช้จ่าย ป้องกันการเอาไปเก็บด้วยการใส่เงินเข้ากระเป๋าตังค์ออนไลน์ เก็บไม่ได้ ต้องเอาไปใช้ตามเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้น ตัวเลขเงินก็จะหายไป เพื่อป้องกันการรั่วไหล เขาก็ให้ทุกคนลงทะเบียนทางโทรศัพท์มือถือ และใช้ระบบคิวอาร์โค้ดซื้อของกับร้านค้าที่ลงทะเบียน

2.ต้องการให้คนไทยได้เรียนรู้ระบบการใช้จ่ายเงินรูปแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่สังคมไร้เงินสดแบบเมืองจีน 1,000 บาท คือ การจ้างให้คนเรียนรู้ระบบนี้ ตั้งแต่ลงทะเบียน-รับเอสเอ็มเอส-โหลดแอป-สแกนใบหน้า จนถึงใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายเงิน ร้านค้าที่อยากได้ประโยชน์จากโครงการนี้ก็ต้องทำแบบนี้เช่นกัน

ตอนนี้คนไทย 13 ล้านคนได้เรียนรู้แล้ว ไม่นับรวมร้านค้าจำนวนมากที่ลงทะเบียน นี่คือ กระบวนการสร้างการเรียนรู้ของคนไทย เพื่อนำไปสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต

เรื่องนี้ต้องชม แต่…

การทำอะไรที่มีเป้าหมายทับซ้อนกันหลายเรื่อง ไม่มีทางที่จะได้ผล 100% ทุกเป้าหมายตามที่ต้องการ

ผมคิดว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเรื่องให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพราะเมื่อกำหนดรูปแบบการรับ-จ่ายให้ซับซ้อน “ผู้บริโภค” ส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ระบบนี้จะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนเมืองที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ชาวบ้านทั่วไปหรือผู้เฒ่าผู้แก่คงเข้าถึงได้น้อยกว่า ยิ่งต้องแย่งกันลงทะเบียน ไม่มีทางที่จะทันเด็ก

เช่นเดียวกับ “ร้านค้า” แม้ว่าร้านทั่วไป จะเข้าร่วมเยอะพอสมควร เพราะอยากได้ “กำลังซื้อ” มหาศาลจาก “ชิม ช้อป ใช้” แต่ส่วนใหญ่เป็นร้านที่มีขนาดใหญ่หรือกลาง เงินก้อนนี้ไม่กระจายไปถึงระดับแผงลอย ตลาดนัด หรือร้านค้าเล็ก ๆ เพราะเขาทำไม่เป็น

และร้านค้าบางส่วนไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวเรื่องการเข้าระบบภาษี เพราะที่ผ่านมาแอบหลบ ๆ เลี่ยง ๆ อยู่ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เองทำให้เงินที่ควรจะหมุนได้รอบมากกว่านี้ได้น้อยกว่าที่คิด

แต่ที่เห็นชัด คือ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่าง ๆ ยิ้มแก้มปริ เพราะคนเลือกไปใช้เงินในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าในศูนย์การค้าเยอะมาก ใช้ง่าย ได้ของครบ

วันธรรมดาคนยังแน่นเลยครับ

มีคนบอกว่าถ้าช่วงนี้ห้างจะเอาป้ายลดราคาออกก็อย่าแปลกใจ เพราะรู้ว่าคนที่ได้เงินมาฟรี 1,000 บาท กลุ่มนี้จ่ายง่าย ไม่ต้องลดราคา หรือลดไม่เยอะ ก็ซื้อ

แต่ที่รัฐบาลได้มากที่สุด คือ เรื่อง “การเมือง” อยู่ดี ๆ มีคนมาให้เงิน ใคร ๆ ก็ชอบ แต่อย่าลืมว่า “ยาชา” แบบนี้มีผลแค่ชั่วคราว ถ้าอาการเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม พอ “ยาชา” หมดฤทธิ์ เสียงโวยวายก็จะกลับมาอีกครั้ง

ครับ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี