“หนุ่มเมืองจันท์” เขียนถึงทีมเศรษฐกิจ “แก้ 1 ปมเพิ่ม 1 ปม”

คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์

ผมไม่รู้ว่าที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ออกตัวว่า ไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเหมือนในอดีต

เพราะคุมแค่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน

ให้นักข่าวถามได้ 2 กระทรวง นอกจากนั้นให้นักข่าวไปถามรัฐมนตรีคนอื่นที่รับผิดชอบ

เหตุผลที่อาจารย์สมคิดพูดเช่นนั้นเป็นเพราะ “ความจริง” ก็เป็นเช่นนั้น รัฐมนตรีเศรษฐกิจจากพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ เขาคุมไม่ได้

มีรองนายกฯของแต่ละพรรคดูแลอยู่ หรือว่าเพราะเขามองออกว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ยากจะเยียวยา ถ้าจะดิ่งลง

ข้าพเจ้าก็ขอออกตัวก่อนว่า ข้าพเจ้าไม่ได้รับผิดชอบ

คนที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คาดว่าประชาชนเห็นชื่อผู้กุมชะตากรรมเศรษฐกิจไทยแล้วคงจะมี “ความหวัง” ขึ้นมา

อาการติ๊ดชึ่งของ “สมคิด” ทำให้ภาคเอกชนเริ่มกุมขมับ

ในยามวิกฤต การตัดสินใจรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าทุกคนต่างคนต่างพาย ถึงเรือไม่ล่มก็คงเกยตื้น

ล่าสุด รัฐบาลก็ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วิธีการก็ยังคงเป็นแบบเดิม เป็นการตลาดการเมืองรูปแบบเก่า

1.ผูกหลาย ๆ มาตรการเข้าด้วยกัน แล้วออกมาตูมเดียวให้ดูยิ่งใหญ่

2.ออกมาตรการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มในทางการเมืองจะได้บอกว่า ช่วยคนทุกกลุ่ม ไม่ได้ช่วยคนกลุ่มใดกลุ่มเดียว

…ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้านหนึ่ง เป็น “กลยุทธ์” ของการตลาดการเมือง

ด้านหนึ่ง เป็นการทำให้ฝุ่นตลบ คนจะได้ไม่โฟกัสไปที่มาตรการใดมาตรการหนึ่ง

อย่างครั้งนี้ เรื่องที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด คือ มาตรการแจก “เงินดาวน์” ให้คนกู้บ้าน แจกแบบไม่มีเงื่อนไขอะไรยุ่งยาก

ขอให้กู้ผ่าน ก็แจกเลย 50,000 บาท นี่คือ มาตรการช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบตรง ๆ

หลังจากออกมาตรการลดค่าโอน ค่าจดจำนองเหลือ 0.01%

ถ้าบ้านราคา 3 ล้าน มาตรการนี้จะลดการจ่ายเงินสดในการโอนและจดจำนองได้เกือบแสนบาท เยอะทีเดียว

แต่มาตรการนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือแบงก์ไม่ยอมปล่อยกู้ง่าย ๆ

การแจกเงินดาวน์ 50,000 บาทครั้งนี้จึงเป็นการแก้โจทย์การกู้เงินแบงก์ ทำให้เรามีเงินดาวน์มากขึ้น

ถ้าซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ประหยัดค่าโอนและจดจำนองไปประมาณ 90,000 บาท

ได้เงินจากรัฐบาลที่แจกอีก 50,000 บาท รวมเป็น 140,000 บาท หรือประมาณ 5% ของราคาบ้าน

ถ้าซื้อบ้านหลังแรก 3 ล้าน เงินดาวน์ 10% ต้องผ่อน 90% แบงก์ไม่ยอมปล่อย

เพิ่มเงินดาวน์จากที่รัฐบาลแจกให้ ยอมดาวน์ 15% ผ่อน 85%

แบบนี้อาจกู้ผ่าน

หรือถ้าเป็นบ้านหลังที่สองที่ติดเงื่อนไขต้องจ่ายเงินดาวน์ 20% ตามมาตรการ LTV ต้องมีเงินสด 600,000 บาท

เงินสดไม่พอ เจอการลดแลกแจกแถมของรัฐบาลเข้าไป ก็เหลือที่ต้องควักกระเป๋าเองแค่ 460,000 บาท

รัฐบาลคงมองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมาก

ถ้าอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา เศรษฐกิจหนักแน่

และยิ่งติดมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ ซึ่งรัฐบาลคุมไม่ได้

วิธีการง่าย ๆ ก็คือ ควักเงินจากกระเป๋ารัฐบาลไปใส่กระเป๋าประชาชน แล้วเอาไปให้แบงก์

แบบนี้แบงก์ชาติว่าไม่ได้ เล่นแร่แปรธาตุกันแบบง่าย ๆ

แต่สิ่งที่รัฐบาลอาจนึกไม่ถึงก็คือ มีคนเอาไปเปรียบเทียบกับการจ่ายเงินช่วยค่าซ่อมบ้านน้ำท่วมที่อุบลราชธานีหลังละ 5,000 บาท

จ่ายก็ยาก จ่ายก็ช้า และแค่ 5,000 บาท

แม้จะเป็นคนละเรื่องกัน แต่เมื่อมีคนนำมาผูกโยงเพื่อให้เห็นความไม่เป็นธรรมของรัฐบาล คนจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกได้

มาตรการแจกเงินดาวน์บ้านนี้ไม่รู้ว่าจะแก้ปมปัญหาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้หรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ได้สร้างปมใหม่ทางการเมืองขึ้นมา เรื่อง “ความเท่าเทียม”

ใครที่คิดว่า “เศรษฐกิจ” และ “การเมือง” ไม่เกี่ยวกัน บอกได้เลยว่า “ไม่จริง”

ยิ่งช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เราจะเห็นความเกี่ยวพันกันชัดเจนขึ้น