“หนุ่มเมืองจันท์” เขียน “ความแตกต่าง”

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

มีคนตั้งข้อสังเกตกับผมว่าทุกร้านทุกสินค้าตอนนี้รีบลดกระหน่ำกันตั้งแต่เดือนตุลาคม ไม่รอเทศกาลปีใหม่ ซึ่งถือกันว่าเป็นฤดูการจับจ่ายใช้สอยตามทฤษฎีการตลาดดั้งเดิม เขาต้องรออารมณ์ผู้บริโภคมาก่อนค่อยเหยียบคันเร่ง

แต่วันนี้ทุกร้านคิดอีกแบบหนึ่ง ใครมาก่อน ได้ก่อน ยิ่งเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อตกต่ำ ขืนช้า คนอื่นเอาไปกินหมด

ร้านต่าง ๆ ไม่รออารมณ์ผู้บริโภคตามเทศกาลแล้ว เขาเชื่อว่าคำว่า sale สามารถสร้างอารมณ์ได้ดีกว่าเทศกาล

ยิ่งมีเครื่องมือโซเชียลมีเดียยิงตรงเข้าหน้าจอลูกค้าได้ จัดแคมเปญพิเศษเมื่อไรทำได้ทันที

ภาคธุรกิจส่งสัญญาณ “ลดกระหน่ำ” แบบนี้ไม่ดีเลย แสดงถึง “ความเชื่อ” ของนักธุรกิจว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะแย่กว่านี้อีก แต่อีกมุมหนึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่เล่ามา

วันก่อน ผมมีนัดทานอาหารกับนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง เขาเป็น “นักชิม” ตัวยง เป็นคนที่พิถีพิถันเรื่องร้านอาหารมาก

วันนั้น ร้านที่เขาเลือกเป็นร้านอาหารอิตาเลียนหรูแถวสุขุมวิท ระหว่างทานอาหาร นักธุรกิจคนนี้บ่นว่าร้านอาหารดี ๆ โดยเฉพาะที่ได้ “มิชลินสตาร์” ตอนนี้จองไม่ได้เลยคิวเต็มยาวเหยียด

ผมนึกถึงวันก่อน ที่ “ปุ้ย” ภรรยาของเชฟ “กากั้น อนันต์” เชิญไปทานอาหารที่ร้านเปิดใหม่ของเขา ร้านเก่าของ “กากั้น” เคยได้รับรางวัลเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชียถึง 4 ปีซ้อน ตอนนี้เขามาเปิดร้านใหม่ชื่อ “Gaggan Anand”

ผมฟังเขาพูดบนเวทีสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” แล้วประทับใจมากชอบที่เขาเล่าเรื่องการสร้าง “ประสบการณ์” การทานอาหารผ่านวิธีการ “เลีย” ให้ “ลิ้น” ได้สัมผัสรสชาติอาหารด้วยการ “เลีย” จาน

ครับ ผม “เลีย” มาเรียบร้อยแล้ว

ต้องยอมรับว่า “กากั้น” เก่งจริงทำอาหารก็อร่อย รูปแบบการนำเสนอก็เหนือชั้น น่าจะใช้เวลาคิดเรื่องรูปแบบภาชนะ
หรือการจัดวางอาหาร พอ ๆ กับการทำอาหาร ค่อย ๆ ละเลียดทีละเมนูไปเรื่อย ๆ คอร์สหนึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้จะเพิ่งเปิดร้าน แต่เต็มแน่นทุกโต๊ะ และเช่นเดียวกับร้านดัง ๆ เช่น ร้านศรณ์, ร้าน Khao ฯลฯ ต้องแย่งกันจองยาว คิวเต็มไปหลายเดือน

ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศก็เช่นกัน ผมเจอนักธุรกิจที่กำลังจะวางมือหลายคน คนกลุ่มนี้อายุ 50-60 เขาเริ่มปล่อยวางแล้ว

คนกลุ่มนี้คิดไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน เขาพร้อมใช้ชีวิตและใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบมาไปเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่น
บางคนไปครั้งละครึ่งเดือน เมื่อคนมีเงินไปเที่ยว ด้วยเป้าหมายว่าพร้อมจ่าย เขาจะใช้จ่ายเงินอย่างเต็มที่ บางคนก็ไปซื้อบ้านที่สองที่ต่างแดน

ที่เล่ามาทั้งหมด เพื่อจะบอกว่าในขณะที่คนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ ยอดขายตก ร้านอาหารก็บ่นว่าขายไม่ได้ ฯลฯ แต่เศรษฐกิจระดับบน คนมีเงินไม่สะเทือนเลยครับ

สถานการณ์ของ “ยอดปิรามิด” ยังปกติดี ร้านที่ผมเล่ามา ราคาต่อหัวไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท บางที่เป็นหมื่น ไปเที่ยวต่างประเทศครั้งละหลายแสนบาทหรือเป็นล้าน

ครับ “กำลังซื้อ” ของเมืองไทยตอนนี้น่าจะเหลือเพียงกลุ่มเดียว คือ คนมีเงิน เป็น “เครื่องยนต์” การบริโภคที่ยังเหลืออยู่ น่าเสียดายที่เขาเลือกใช้จ่ายในต่างประเทศ แทนที่จะใช้ในประเทศ

มีนักการตลาดดังคนหนึ่งบอกว่าถ้าทำธุรกิจช่วงนี้ ให้เลือกเจาะกลุ่ม “คนรวย” ระดับยอดปิรามิด เพราะ “กำลังซื้อ” กลุ่มนี้ยังดีอยู่

ทำธุรกิจอะไรก็ตาม อย่าวางตำแหน่งสินค้าอยู่กลางๆ จะสูงก็ไม่กล้าสูงแบบโดดเด่น เขาบอกว่าถ้าจะทำร้านอาหารก็ให้ทำแบบหรูสุด ๆ ไปเลย อย่าครึ่ง ๆ กลาง ๆ

ถ้าจะหรู ต้องหรูให้คนหมั่นไส้ แบบนี้ถึงจะรอด