“หนุ่มเมืองจันท์” เขียน “คิดไม่ออก”

คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์

เดือนธันวาคมน่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนมี “ความสุข” และ “ความทุกข์” ในเวลาเดียว

มี “ความสุข” เพราะอากาศดีและมีวันหยุดเยอะ แต่ “ทุกข์” เพราะใกล้สิ้นปีแล้ว อะไรที่คั่งค้างอยู่หรือไม่ได้ตามเป้าก็ต้องรีบเหยียบคันเร่ง

สมองอีกส่วนก็ต้องคิดงานใหม่ของปีหน้า

ตอนที่คิดงานไม่ออก เราจะอิจฉาคนที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ คิดงานอะไรก็เก๋ เท่ระเบิด

แต่จริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้ก็มีช่วงเวลาแบบเดียวกับเรา คือ คิดไม่ออก แต่เขาไม่ยอมแพ้

ผมเคยอ่านเรื่องวิธีคิดของ “ชูใจ” บริษัทโฆษณารุ่นใหม่ที่ชอบทำโฆษณาเพื่อสังคม

“ประวิทย์ วิทยสัมฤทธิ์” ครีเอทีฟและผู้ก่อตั้ง “ชูใจ” เล่าเรื่อง 20 เคล็ดลับในการสร้างสรรค์โฆษณาในงานหนึ่ง

มี 4 ข้อที่ชอบมาก

เรื่องแรก คือ การเดินหาปัญหาใหม่ ๆ

ครั้งหนึ่งสภากาชาดไทย เคยให้ทาง “ชูใจ” ช่วยคิดแคมเปญชวนคนมาบริจาคอวัยวะ

เรื่องนี้มีคนทำเยอะเลย

มองในปัญหาเดิม มุมเดิมก็คิดไม่ออก

“ประสิทธิ์” ใช้วิธีการง่าย ๆ คือ เข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย คุยเพื่อหาข้อมูลใหม่ ๆ คุยเพื่อหาปัญหาที่เรานึกไม่ถึง

เขาพบว่าคนที่บริจาคอวัยวะมี “บัตรบริจาค” เรียบร้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะบริจาคได้ ต้องขึ้นอยู่กับการยินยอมพร้อมใจของญาติด้วย ถ้าครอบครัวไม่ยอม การบริจาคอวัยวะก็ไม่เป็นผล

นี่คือ ปัญหาใหม่ที่เขาและคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน

“ชูใจ” จึงคิดแคมเปญ “พินัยกรรมอวัยวะ”

ทำเว็บไซต์เพื่อให้ผู้บริจาคอวัยวะอัดคลิปบอกกับคนที่เรารัก ครอบครัวถึงเหตุผลและความตั้งใจในการบริจาคอวัยวะของเขา บอกไว้ก่อน ก่อนที่วันนั้นจะไม่มีโอกาสได้บอก

เรื่องที่สอง เปิดปฏิทิน

คิดไม่ออกให้ลองพลิกปฏิทินเล่น ๆ ดู มีงานหนึ่งเป็นกิจกรรม CSR รับบริจาคของเล่นที่ไม่ใช้แล้วจากคนกรุงเพื่อส่งให้เด็กต่างจังหวัดที่ยากไร้ ของเล่นได้มาฟรี

เครื่องมือของ “ชูใจ” ก็มีอยู่แล้ว เป็นแคมเปญที่ไม่ต้องใช้เงินสักบาท แต่เขาลืมไปว่าต้องส่งของเล่นไปต่างจังหวัด
ไม่ได้คิดต้นทุน “ค่าขนส่ง”

ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรดีก็เลยเปิดปฏิทินเล่น เปิดไปเรื่อย ๆ ดูวันและเทศกาลที่คนกรุงออกต่างจังหวัด พบว่าช่วงคริสต์มาสต่อเนื่องถึงปีใหม่ คนไปเที่ยวต่างจังหวัดเยอะมาก

เขาจึงทำแคมเปญ “ซานต้าอาสา” ขึ้นมา ให้คนที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดขนของเล่นไปให้เด็ก ๆ ที่ต่างจังหวัด

ไม่ต้องเสียค่าขนส่งสักบาทเดียว ส่วนคนที่เข้าร่วมก็มีความสุข เพราะได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ เป็น “ของขวัญปีใหม่”

เรื่องที่สาม ทุกครั้งที่คิดให้ทำตัวเป็น “คนขี้อาย”

ทำงานอะไรขึ้นมา อย่าพอใจเร็วเกินไปให้ดูอีกครั้ง คิดว่าจะกล้าบอกเพื่อนไหมว่าเป็นงานของเรา

ถ้าไม่กล้าบอก…อาย ให้ทำใหม่”คนขี้อาย” แบบนี้จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น

และข้อสุดท้าย

จงอดทนกับความคิด เพราะไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ