“หนุ่มเมืองจันท์” : น่ากลัวกว่า “ไวรัส”

Photo by David McNew/Getty Images
คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

ว่ากันว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังเผชิญกับ “ไวรัส” 2 ตัว

ตัวแรก คือ ไวรัส “โคโรน่า” ที่ระบาดมาจากเมืองจีน และตัวที่สอง ไวรัส “เสียบบัตรแทนกัน”

ตอนนี้อัตราคนป่วยจากโรคนี้เพราะมีภาพและหลักฐานว่าเสียบบัตรแทนคนอื่น

จาก 1 คน กลายเป็นเกือบ 10 คนแล้วครับ ระบาดไปทุกพรรคร่วมรัฐบาลอย่างรวดเร็ว

ผลกระทบจากกรณี “เสียบบัตรแทนกัน” ทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณของรัฐบาลที่ผ่าน 3 วาระแล้ว และคาดกันว่าจะเริ่มเบิกจ่ายงบฯได้ในเดือนกุมภาพันธ์ต้องชะงักไป

เพราะเรื่องต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่า พ.ร.บ.งบประมาณจะโมฆะหรือไม่

อย่าลืมว่าตามปกติงบประมาณของรัฐจะเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

แต่วันนี้ยังใช้ไม่ได้เลยครับ เพราะกว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้ง กว่าจะได้รัฐบาล และกว่า พ.ร.บ.งบประมาณจะเข้าสภา

ที่ผ่านมารัฐบาลก็ประคองตัวกันมาตลอด ด้วยความหวังว่ากุมภาฯนี้จะได้ใช้งบฯใหม่เสียที

ที่มีคนบอกว่าเลื่อนมาหลายเดือนแล้ว รออีก 2 เดือน คงไม่เป็นไร ไม่ใช่นะครับ

เศรษฐกิจไทยเหมือนกับคนที่เดินกลางแดด ไม่ได้ดื่มน้ำมานาน

5 ชั่วโมงแรกคงพอไหว แต่ความรู้สึกในชั่วโมงที่ 6 คงหนักหนาสาหัสกว่าชั่วโมงแรก ๆ เยอะมาก

ตาคงเริ่มลาย แรงคงแทบจะไม่มี

รัฐบาลเมื่อเจอวิกฤตงบประมาณจากไวรัส “เสียบบัตรแทนกัน” เขาก็ต้องคิดหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นั่นคือ ที่มาของแนวคิด “ชิม ช้อป ใช้ อินเตอร์” สร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยว หลังจากค่าเงินบาทแข็ง

หวังรายได้จากนักท่องเที่ยว เพราะง่ายที่สุด รายได้จากนักท่องเที่ยวจะพุ่งตรงไปที่ชาวบ้านเลยทันที

ไม่เหมือนงบฯการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน

ดังนั้น เมื่อเกิดไวรัส “โคโรน่า” ขึ้นมา ต้นกำเนิดของโรคนี้มาจากเมืองจีน

ในขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดของไทย คือ ชาวจีน

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องถ่วงดุลระหว่างเรื่อง “เศรษฐกิจ” กับ “ความปลอดภัย” คนไทย

ถ้าไม่มีเรื่องวิกฤตงบประมาณ ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารอีกแบบหนึ่ง

แต่พอเจอเรื่องวิกฤตงบประมาณ และหวังพึ่งพาเงินจากนักท่องเที่ยวจีน วิธีการบริหารจึงเป็นแบบนี้

ทั้งที่เมืองไทยเคยผ่านวิกฤตไข้หวัดนก และโรคซาร์สมาแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขเก่งมาก ได้รับการยอมรับในระดับโลก

แต่เพราะกลัวว่าคนไทยจะตื่นตระหนก และไม่กล้าใช้มาตรการแรงกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน

ความรู้สึกของคนไทยต่อรัฐบาลจึงค่อนข้างติดลบ

มีคนบอกว่าในช่วงการบริหารวิกฤต เรื่อง “การสื่อสาร” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ต้องกล้าบอก “ข้อเท็จจริง” ด้วยภาษาที่น่าเชื่อถือ และคนพูดต้องน่าเชื่อถือด้วย

แต่ถ้าบอกว่าไม่มีอะไร แค่ “ไข้หวัดใหญ่” แบบนี้คนจะกลัว และตื่นตระหนก

เรื่องไวรัส “โคโรน่า” นอกจากส่งผลต่อนักท่องเที่ยวจีนที่ยกเลิกการจองที่พักแบบ “ถอนยวง”

ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องอีกหลายเดือน

“ไวรัสโคโรน่า” ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยด้วย เพราะทุกคนจะเดินทางน้อยลง และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ชุมชน ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการค้าขายทั้งหลายจะลดลงด้วย

ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้สาหัสยิ่งกว่าเดิม

มีคนบอกว่าเดือนมกราคมปีนี้ มี 31 วันเท่ากับทุกปี แต่ทำไมความรู้สึกของเรารู้สึกว่าเดือนมกราคม 2563 ยาวนานกว่าทุกปี

เป็นเดือนแห่งข่าวร้าย แต่เชื่อเถอะครับ เมื่อพายุร้ายผ่านไปท้องฟ้าสดใสก็จะกลับมา

แต่เมื่อไร…ไม่รู้