“หนุ่มเมืองจันท์” : ก้าวใหม่ของ ซี.พี.

ธนินท์ เจียรวนนท์
ภาพ: Taylor Weidman/Getty Images

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

การตัดสินใจลงทุน 100 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม

ในขณะที่เมืองไทยหน้ากากอนามัยขาดแคลน แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่มี

“หน้ากากอนามัย” เป็นของจำเป็นของคุณหมอและพยาบาล ถ้าไม่มีก็เหมือน “นักรบ” ที่ต้องออกรบโดยปราศจาก “เสื้อเกราะ”

โรงงานแห่งนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 สัปดาห์ เป้าหมายคือผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง

แจกฟรี ไม่ขาย

คุณธนินท์บอกว่าเครือ ซี.พี.จะใช้ศักยภาพที่มีเครือข่ายการลงทุนอยู่ทั่วโลกจัดหาเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย

กำลังการผลิตเดือนละ 3 ล้านบาท ภายหลังจากวิกฤตครั้งนี้ โรงงานแห่งนี้จะค่อยผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อขาย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้มูลนิธิโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาฯ

ที่ผ่านมาภาพของซี.พี.ในช่วงวิกฤตจะไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้เท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะควักเงินบริจาคช่วยเหลือ

แต่ครั้งนี้คือการลงมือลงแรงแก้ปัญหาที่ตรงจุด เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในช่วงเวลาที่คนเดือดร้อน

ผมเคยตั้งคำถามกับน้อง ๆ ที่รู้จักกันว่าทำไมเวลาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ซี.พี.ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทยไม่คิดผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ฯลฯ ที่ไม่ต้องอุ่นร้อนแจกคนที่ประสบภัย

เรื่องแบบนี้ ซี.พี.ทำได้ ทำได้ดีและทำได้เร็วด้วย คิดล่วงหน้าไว้เลยก็ได้ เพราะเดี๋ยวน้ำก็ท่วมอีก

ซี.พี.น่าจะเปลี่ยนจากการบริจาคเงินมาเป็นการลงมือทำ ผมว่าคนจะรู้สึกดีกับองค์กรมากขึ้น

ดังนั้น จังหวะก้าวครั้งนี้ของคุณธนินท์จึงน่าชื่นชมมาก น่าจะเป็นก้าวแรกเพื่อที่จะนำไปสู่ก้าวต่อ ๆ ไป

เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของ ซี.พี.ไม่ค่อยดีนัก

ถามว่าดูจากอะไร

วิธีการดูง่าย ๆ ว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นอย่างไร คือ ถ้ามีข่าวขององค์กรลงในสื่อออนไลน์

“ความเห็น” ท้ายข่าวเป็นอย่างไร ความเห็นจากคนอ่าน คือ ภาพลักษณ์ขององค์กรในใจคน

อย่าไปบอกว่าเขาไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง เขาอาจไม่เข้าใจก็จริง แต่สิ่งที่เขียน คือ ความรู้สึกของเขาต่อแบรนด์

ไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ใหญ่จะไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องแบบนี้ เพราะลูกน้องส่วนใหญ่จะรายงานแต่ข่าวดี ถ้าเขารู้ ผมเชื่อว่าเขาต้องแก้ไข

ครั้งนี้จะเป็นก้าวใหม่ที่ทำให้ ภาพลักษณ์ของ “ซี.พี.” ดีขึ้น

จริง ๆ แล้วในยามวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ภัยหนาว น้ำท่วม หรือไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้

ผมถือว่าเป็น “โอกาส” ที่นักธุรกิจใหญ่ ๆ จะแสดงน้ำใจ ทำให้คนรู้สึกว่านอกจากจะ “รับ” แล้ว เขายัง “ให้” ด้วย

อย่างกรณีนี้ ถ้าคุณธนินท์ประกาศลงทุน 100 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี

คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศบริจาคแอลกอฮอล์ทำความสะอาดให้กับโรงพยาบาลหรือคนยากจน

คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประกาศผลิต “หน้ากากผ้า”แจกประชาชน

ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ให้ตอนที่เขาเดือดร้อน ความรู้สึกของสังคมจะดีขึ้น


ในยามวิกฤตที่มีแต่ข่าวร้าย ๆ บางทีเราก็ต้องการเรื่องราวดี ๆ แบบนี้