หนุ่มเมืองจันท์ : ต้นไม้ใหญ่

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
marketthink
สรกล อดุลยานนท์

มี “เจ้าสัว” คนหนึ่ง ร่ำรวยมาก

แต่สมถะมาก

ชอบใส่เสื้อสบาย ๆ กางเกงแพร ใส่หมวกงอบ ขี่จักรยานไปโรงงาน

ไม่นิยมของแบรนด์เนม นาฬิกาที่ข้อมือก็เป็น “ราโด” เรือนเก่าที่ใส่มานานหลายปี

ไม่ได้ยืมใครด้วย

เขามีความสุขกับการทำงาน มากกว่าการใช้เงิน

ครั้งหนึ่ง ยามหน้าใหม่เห็นลุงคนนี้

ขี่จักรยานเข้ามาในโรงงานที่ห้ามคนนอกเข้า

เขาตะโกนห้าม

จนยามรุ่นพี่ต้องสะกิดบอกว่า

คนนี้คือ “เจ้าของ”

“เจ้าสัว” คนนี้อ่อนน้อมถ่อมตนมาก

ไม่มีมาด แม้กระทั่ง “ลูกน้อง”

ไม่ค่อยชอบออกงานสังคม ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ

มีบทสัมภาษณ์น้อยชิ้นมากในช่วงชีวิตของเขา

“เจ้าสัว” คนนี้ชอบทำบุญมาก

ลูกสาวคนหนึ่งเคยเล่าว่าทุกครั้งที่ไปต่างจังหวัดกับพ่อ จะนำสิ่งของไปแจกชาวบ้าน ให้ทุนการศึกษาเด็กยากจน

จนกลายเป็น “ต้นแบบ” ให้ลูกสาวคนนี้ดำเนินรอยตาม

ทำโครงการช่วยเหลือสังคมมากมายแบบเงียบ ๆ

ลูกหลายคนก็ใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ

และเมื่อวันที่ “เจ้าสัว” คนนี้เสียชีวิต

เขาสั่งลูก ๆ ทุกคนให้จัดงานศพแบบเรียบง่าย

รบกวนคนให้น้อยที่สุด

แม้แต่การเลือกวัด

เขาบอกให้เลือกวัดเล็ก ๆ ใกล้ที่ทำงาน

เพื่อที่พนักงานจะได้เดินทางสะดวก

ตอนแรกจะจัดงานศพแค่ 3 วัน

แต่หุ้นส่วนที่ต่างประเทศเดินทางมาไม่ทันจึงต้องเพิ่มเป็น 7 วัน

ให้ลูกหลานเป็นเจ้าภาพเพียงผู้เดียว ไม่รับ “เจ้าภาพร่วม”

เงินบริจาคทั้งหมดมอบให้กับวัด

มีรุ่นพี่คนหนึ่งไปงานศพของ “เจ้าสัว”คนนี้แล้วประทับใจมาก

นอกเหนือจากระบบงานที่ดีแล้วยังเห็นการใส่ใจในรายละเอียด

ลูกหลานจะยืนเป็นแถวรอรับแขกอยู่หน้างาน แขกของใครมาก็พาไปนั่งในกลุ่มคนที่คุ้นเคย

เพื่อไม่ให้เคอะเขิน

แต่ที่ประทับใจที่สุด คือ การดูแล “คนขับรถ”

จะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเดินมาถามว่ามางานนี้หรือเปล่า

ถ้าใช่ ก็จะชี้ไปที่จอดรถ

พร้อมกับยื่นกล่องอาหารว่างอย่างดี และเครื่องดื่มให้

เพราะรู้ว่า “คนขับรถ” อาจจะหิวระหว่างที่รอ “เจ้านาย”

ยิ่งงานใหญ่ คนยิ่งเยอะ หาของกินยาก

เขาใส่ใจในรายละเอียดแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ของคนตัวเล็ก

“เจ้าสัว” คงไม่ได้สั่ง

แต่สะท้อนให้ถึง “วิธีคิด” ที่ส่งมอบให้กับ “ลูก ๆ” บางคน

บางครั้ง “ความยิ่งใหญ่” ของคนเราที่อยู่ในใจคนทั่วไป

อาจไม่ใช่ขนาดของ “อาณาจักรธุรกิจ”

แต่เป็นเรื่องการใส่ใจในเรื่องของ “คนตัวเล็ก” ที่ไม่คิดว่า “คนตัวใหญ่” จะมองเห็น

“ต้นไม้ใหญ่” ในจินตนาการของเรา

จะไม่ใช่ต้นที่สูงที่สุด

หรือสูงเสียดฟ้า

แต่เป็นต้นไม้ที่แผ่กว้าง

ให้ร่มเงาแก่คนตัวเล็ก ๆ โดย

ไม่เลือกว่าเป็นคนจนหรือคนรวย

ครับ “เจ้าสัว” คนนี้ชื่อ “เฉลียว อยู่วิทยา”

ผู้ให้กำเนิดเครื่องดื่ม “กระทิงแดง” และ “เรดบูล”

ผมเคยเขียนเรื่องนี้ครั้งหนึ่งในช่วงงานศพของคุณเฉลียวด้วยความประทับใจ

ไม่นึกว่าจะต้องกลับมาเล่าใหม่อีกครั้งในวันนี้

ในวันที่คนในตระกูล “อยู่วิทยา” ถูกตั้งคำถามจากสังคม

วันที่ต้นไม้ใหญ่โอนเอนจนอาจหักโค่นลง

ไม่ใช่จากลมพายุภายนอก

แต่เป็นเพราะกิ่งก้านใหญ่บางกิ่งที่ใช้ความใหญ่โตไประรานผู้คนในสังคม

คิดถึงแต่ตัวเอง

ไม่คิดถึงกติกาของสังคม

การเขย่าต้นไม้ใหญ่จึงเกิดขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่า “ความดี” ที่สั่งสมมายาวนานจะพังทลายลงได้เพียงชั่วข้ามคืน