จุกาด

คอลัมน์ marketthink : สรกล อดุลยานนท์

เคยได้ยินชื่อ “นาวี ราดจู” ไหมครับ เขาเป็นนักคิดคนหนึ่งที่พูดใน Ted Talk คลิปการพูดของเขาได้รับความนิยมสูงมาก หัวข้อที่พูดคือ “การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในการเผชิญกับข้อจำกัด” ฟังแล้วนึกถึงสถานการณ์ในตอนนี้เลยครับ

“ราดจู” เป็นคนอินเดีย ประเทศที่มีประชากรเยอะมาก แต่ทรัพยากรน้อยมาก เขาใช้ชีวิตอยู่กับ “ข้อจำกัด” จนชิน

ดังนั้น เขาจะรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่คนทำงานองค์กรใหญ่ ๆ เวลาจะทำอะไรสักอย่างแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แล้วบ่นว่า “ทรัพยากรไม่พอ”

“นาวี ราดจู” ยกตัวอย่างเรื่องการคิดค้นตู้เย็นของช่างปั้นหม้อคนหนึ่งชื่อ “มันสุขปราจาปาตี” เขาทำตู้เย็นจากดินเหนียว จากทรัพยากรที่ใกล้ตัว จากความเชี่ยวชาญเรื่องการปั้นหม้อ

“ตู้เย็นดินเหนียว” ของเขาสามารถเก็บผลไม้สดและผักสดได้นานหลายวัน อาจจะไม่ดีเท่ากับตู้เย็นที่ใช้ไฟฟ้า
แต่สำหรับคนยากจนที่อินเดีย “ตู้เย็น” แบบนี้ก็ถือว่าเยี่ยมยอดแล้ว

หรือไปที่แอฟริกา ถ้ามือถือของคุณแบตเตอรี่หมด เขาจะชาร์จแบตเตอรี่ให้ด้วยการปั่นจักรยาน หรือที่เปรู ไม่มีน้ำใช้ ขาดแคลนน้ำมาก แทบจะไม่มีฝนตกเลยในแต่ละปี

เขาทำป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อดูดซับความชื้นในอากาศ ควบแน่นกลายเป็นน้ำวันละ 90 ลิตร

“นาวี ราดจู” บอกว่า คนที่ขาดทรัพยากรเหล่านี้ ไม่มีห้องแล็บราคาแพง ๆ ถนน คือ ห้องแล็บของเขา เมื่อทรัพยากรภายนอกขาดแคลน เขาก็ต้องหามันมาจากภายในตัวคุณ

ที่อินเดียเรียกกระบวนการนี้ว่า “จุกาด” (Jugaad) “จุกาด” เป็นภาษาฮินดู หมายถึง “ต้องแก้ไขให้ได้” เป็นความฉลาดท่ามกลางความทุกข์ยาก สิ่งประดิษฐ์ที่ได้ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แต่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก

“โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ ชอบพูดคำหนึ่งว่า “กันดาร คือ สินทรัพย์”  ความยากไร้ ขาดแคลน จะทำให้เกิด “ความคิดสร้างสรรค์”

ของมีอยู่เท่านี้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สัญชาตญาณเอาตัวรอดจะทำให้เรามีพลังเหนือกว่าเราคิด
ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะกับสถานการณ์ธุรกิจของเมืองไทย ท่ามกลางความมืดของเศรษฐกิจไทย อย่าเพิ่งหมดหวัง ลองคิดแบบ “จุกาด” ดู

“ราดจู” บอกว่า หลักการคิด “นวัตกรรมต้นทุนต่ำ” มีอยู่ 3 ประการ

ประการแรก รักษาความเรียบง่าย อย่ามุ่งแต่จะสร้างให้ลูกค้าประทับใจเท่านั้น แต่ต้องทำให้พวกเขาใช้งานง่ายและสะดวกในการเข้าถึง

ประการที่สอง อย่าทำล้อขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องซื้อของใหม่ แต่ให้ใช้ทรัพยากรและสินทรัพย์ที่เรามี

ประการที่สาม คิดและทำแบบแนวราบ เขายกตัวอย่าง การรวมศูนย์ดำเนินการไว้ที่โรงงานหรือโกดัง ให้แนวการบริหารงานอยู่ในแนวราบ เจอหน้ากันข้ามหน่วยงาน ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

ผมชอบหลักคิดของ “นาวี ราดจู” เพราะเหมาะกับสถานการณ์ในวันนี้ ทรัพยากรน้อย ต้องใช้สมองเยอะ อย่าบอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน ไม่มีคน ไม่มีทรัพยากรใด ๆ คิดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ผมเห็นหลายองค์กรพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาได้จากแนวคิดแบบ “จุกาด” ถึงวันนี้หลายแห่งได้ระบบงานใหม่ ได้สินค้าใหม่

หลายคนบอกว่า ถ้าไม่มีโควิด เขาคงไม่ได้ทำอะไรมากมายขนาดนี้ บางแห่งลดต้นทุนมโหฬารจากช่วงโควิด พอยอดขายเพิ่มขึ้น แม้จะไม่เท่าเดิม แต่ต้นทุนที่ลดลง ทำให้เขากำไรมากขึ้น

“ขอบคุณโควิด” เขาบอก ถามว่าอยากมีอีกไหม เขาส่ายหน้า ตอบแบบรักษาฟอร์ม

“ผมไม่ชอบขอบคุณใครบ่อย”


…ครั้งเดียวก็พอแล้ว