เปลี่ยนมุมคิด

คอลัมน์ Market-think สรกล อดุลยานนท์

 

วันก่อนคุยกับคุณตัน ภาสกรนที เรื่อง “อิชิตัน” ตัวเลขผลประกอบการของเขาปีนี้ดีมาก สวนกระแสเศรษฐกิจ

ถามว่าทำไมถึงกำไรดี เขาบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากตลาดต่างประเทศ ยอดขายในประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น ที่สำคัญก็คือ โรงงานที่อินโดนีเซียเริ่มมีกำไรแล้ว จากเดิมที่ขาดทุนหนัก

คุณตันลงทุนที่อินโดนีเซียค่อนข้างเยอะทีเดียว เรื่องบริษัทร่วมทุนที่อินโดนีเซียถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่คุณตันได้เรียนรู้

…ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราคิด

วันนี้สินค้าที่ขายดีไม่ใช่ชาเขียวญี่ปุ่น แต่เป็น “ชาไทย” พอตัวเลขจาก “ขาดทุน” เป็น “กำไร”แม้กำไรจะยังไม่สูงมาก แต่ตัวเลขกำไรรวมก็สูงขึ้นทันที

สมมุติจาก -100 เป็น +1 กำไรรวมของบริษัทก็เพิ่มขึ้นจาก ปีที่แล้ว 101 ล้านทันที

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผลประกอบการปีนี้ดี เพราะเขาค้นพบอาวุธลับสำคัญ คือ เครื่องดื่มขวดละ 10 บาท เหมือนเป็นตัวเลขทางจิตวิทยา ราคา 10 บาทควักกระเป๋าง่าย 11 ก็ไม่ได้ 12 ก็ไม่ได้

พอคุณตันปรับไซซ์เครื่องดื่มขายราคา 10 บาท ยอดถล่มทลายเลยครับ เรื่องนี้เป็นเพราะโครงสร้างธุรกิจของ “อิชิตัน” โรงงานของ “อิชิตัน” นั้นดีไซน์ขึ้นมา เหมาะกับการผลิตสินค้าจำนวนมาก ถ้าผลิตน้อย ต้นทุนจะสูงมาก โดยเฉพาะ “ค่าเสื่อม” กินตาย

ดังนั้น เมื่อตั้งราคาให้ขายง่าย โรงงานผลิตจำนวนเยอะ ๆ ต้นทุนต่อหน่วยจะต่ำลงเรื่อย ๆ เส้นกราฟต้นทุนที่ลดลงจะลดฮวบเลย แตกต่างจากโรงงานทั่วไป

ทั้งหมดเป็นเรื่อง “วิธีคิด” จริง ๆ ครับ ล่าสุด เขาเริ่มต้น “วิธีคิด” ใหม่ กับเครื่องดื่มตัวใหม่ เป็นเรื่อง “ค่าเสื่อมราคา” ครับ

เครื่องจักร โรงงาน และสิ่งของต่าง ๆ ล้วนมี “ค่าเสื่อมราคา” เอามาเฉลี่ยกับทุกสินค้าที่ผลิตได้

อย่างเช่น ตอนนี้สมมุติว่า เขาต้องการผลิตเครื่องดื่มตัวใหม่ ราคา 10 บาท คิดต้นทุนยังไงก็ขาดทุน เพราะในทางบัญชี ต้องบวก “ค่าเสื่อม” เครื่องจักร และอื่น ๆ เข้าไปด้วย

คิดแบบนี้ สินค้าใหม่ไม่มีทางเกิด คุณตันบอกว่า ให้ลองคิดใหม่ อย่าลืมว่า ตอนนี้ “ค่าเสื่อม” หารเฉลี่ยไปกับสินค้าที่ผลิตได้อยู่แล้ว

สมมุติว่า ค่าเสื่อม 100 บาท ผลิตสินค้า 10 ขวด ค่าเสื่อมเฉลี่ยขวดละ 10 บาท ถ้าผลิตสินค้าขวดใหม่อีก 10 ขวด รวมเป็น 20 ขวด ตามหลักบัญชี ต้องหารเฉลี่ย 20 ขวด เหลือ 5 บาทต่อขวด “สินค้าเก่า” จะกำไรเพิ่มขึ้นทันที

แต่ “สินค้าใหม่” แม้จะเหลือต้นทุนค่าเสื่อม 5 บาท แต่เมื่อรวมกับต้นทุนอื่น ๆ จะไม่คุ้มกับการขาย

มีวิธีแก้ปัญหาอยู่ 2 วิธี คือ 1.ขยับราคาขายตามต้นทุน หรือ 2 คิดแบบคุณตัน คิดยังไงหรือครับ

เมื่อสินค้าเก่า 10 ขวดแรก แบกค่าเสื่อมทั้งหมดขวดละ 10 บาท อยู่แล้ว ก็ให้แบกต่อไป เพราะยังมีกำไรอยู่

ส่วนสินค้าใหม่ไม่ต้องคิด “ค่าเสื่อม” เมื่อรวมต้นทุนทั้งหมดแล้ว ต้นทุนต่ำกว่าราคาขาย ดังนั้น สินค้าใหม่ก็ขาย 10 บาท ได้ตามที่ตั้งใจไว้

อย่างที่บอกแล้วว่า ราคา 10 บาท คือ ตัวเลขมหัศจรรย์ พอขายดีมาก ๆ จำนวนการผลิตเยอะ ๆ ค่าเสื่อมอาจจะลดลงเหลือแค่ขวดละ 1 บาท รวมแล้วต่ำกว่าราคาขาย

เราค่อยเอาระบบบัญชีปกติมาใช้

แค่เปลี่ยนมุมคิด อะไรที่ “เป็นไปไม่ได้” ก็ “เป็นไปได้”