ปัญหา-ปัญญา

market-think สรกล อดุลยานนท์


เห็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “ฟู้ดแพชชั่น” แล้ว ต้องยอมรับเลยว่า ทีมงานค่ายนี้สู้จริง ๆ “โควิด” ทำให้ “ฟู้ดแพชชั่น” ตกอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะหน้าร้านของเขา ไม่ว่าจะเป็น “บาร์บีคิว พลาซ่า” หรือ “จุ่บแซบ ฮัท” ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้าเจอล็อกดาวน์ปิดห้างเข้าไป เรียบร้อยเลยครับ

แค่ 2-3 วันไม่เท่าไร แต่ครั้งนี้เจอไปหลายเดือน ผมยังจำภาพของผู้บริหาร “ฟู้ดแพชชั่น” ออกมาไลฟ์สด เพื่อขายอาหารทางเฟซบุ๊กได้เลย รายได้แค่ไม่กี่หมื่นก็ดีใจกันมาก ทั้งที่สมัยก่อน ยอดขายสาขาหนึ่งก็มากกว่าที่ไลฟ์สดแล้ว

บทเรียนในครั้งนั้น ทำให้ทีมผู้บริหาร “ฟู้ดแพชชั่น” รู้เลยว่า “จุดอ่อน” ขององค์กร คือ การใส่ “ไข่” ทั้งหมดลงในตะกร้าเดียว เวลาตะกร้านี้ตกลงพื้น ไข่ก็แตกหมด

ร้านของเขาส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้า สินค้าของเขาขายออนไลน์ยาก เพราะต้องปิ้งย่าง หรือลวกก่อนกิน จะปิ้งย่างแล้วส่งไปให้กินที่บ้านก็ไม่เหมือนการปิ้งเองที่ร้าน กินร้อน ๆ อร่อยกว่าเยอะ

นั่นคือ ที่มาของการเปิดตัว “หมูทอด…กอดคอ” เมื่อวันก่อน

สินค้าของเขา คือ หมูสับทอดพริกสด หมูสับทอดกระเทียม หมูสามชั้นทอดกระเทียม และไก่ทอดกระเทียม ราคา 25 บาท ถ้าขายพร้อมข้าวเหนียวก็ 30 บาท ราคาจับต้องง่าย เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจในวันนี้

“ฟู้ดแพชชั่น” ขาย “แฟรนไชส์” ครับ ที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์การขาย “แฟรนไชส์” เขายกเว้นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (franchise fee)  ยกเว้นค่าสิทธิหรือการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรายเดือน (royalty fee)  ยกเว้นค่าการตลาด (marketing fee/advertising fee) และยกเว้นค่าฝึกอบรม ขอเพียงแค่ซื้อ “วัตถุดิบ” จากเขาอย่างเดียว

โมเดลการขายมี 3 แบบ ในราคาจับต้องได้ 11,900, 32,900 และ 59,900 บาท การเป็นค่ายใหญ่ทำให้ “ฟู้ดแพชชั่น” สามารถดึงพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้

เรื่องที่ตั้งร้าน เขาก็คุยกับปั๊มน้ำมัน พีที ที่ใกล้แหล่งชุมชน ฟรีค่าเช่า 2 เดือนแรก ลดค่าเช่าเดือนที่ 3-5 อีก 50%
หรือจะเลือกที่ “โลตัส เอ็กซ์เพรส” เขาก็คุยให้ โดยคิดค่าเช่าต่ำกว่าคนทั่วไป คือเดือนละ 4,500 บาท

เรื่องการเงินก็มีแบงก์กสิกรไทย กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เคซีที ให้เลือกใช้บริการ เขารู้ว่าคงมีคนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจในวันนี้เยอะ

บางคนเคยทำงานประจำมาก่อน ต้องตกงานช่วงนี้ คนกลุ่มนี้บางคนเพิ่งเริ่มค้าขายครั้งแรก ประสบการณ์ธุรกิจต่ำมากหรือไม่มีเลย ถ้าปล่อยให้ลงน้ำโดยไม่ช่วยอะไรเลย ตายแน่ ๆ ดังนั้น การช่วยเรื่องทำเล การเงิน และการฝึกอบรม จะช่วยให้เขาอยู่รอดในช่วงแรก

“ฟู้ดแพชชั่น” นั้นได้เปรียบเรื่องความเชี่ยวชาญเรื่องอาหาร และระบบโลจิสติกส์ เพราะต้องส่งวัตถุดิบให้สาขาทั่วประเทศอยู่แล้ว เขาใช้ความได้เปรียบเรื่องนี้มาสร้างแฟรนไชส์ “หมูทอด…กอดคอ”

“เป้” ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด บอกว่า “หมูทอด…กอดคอ” ไม่ใช่ธุรกิจที่จะมาสร้างการเติบโตในแง่ผลประกอบการในช่วงเวลาอันสั้น เพราะเป้าหมาย คือ ยอดขายเดือนละ 60,000 บาทต่อร้าน

กะว่าลอตแรกจะเปิด 100 สาขาก่อน เดือนละ 6 ล้านบาท ถือว่าเล็กน้อยมากสำหรับ “ฟู้ดแพชชั่น”

แต่คงคล้าย ๆ กับที่ “นีล อาร์มสตรอง” เคยพูดไว้หลังเหยียบดวงจันทร์ “ก้าวเล็ก ๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”

คนทุกคนล้วนมี “ก้าวเล็ก ๆ” เสมอ เพียงแต่ “ก้าวเล็ก ๆ” นั้นจะส่งผลสะเทือนอย่างไรในอนาคตเท่านั้นเอง
100 สาขา เดือนละ 6 ล้าน แต่ถ้า 1,000 สาขา ก็ 60 ล้านบาทต่อเดือนนะครับ

ที่สำคัญ นี่คือ การกระจายความเสี่ยงของ “ฟู้ดแพชชั่น” เพราะทุกสาขาอยู่นอกศูนย์การค้า ถ้าเกิดวิกฤตแบบ “โควิด” อีกครั้ง “บาร์บีคิว พลาซ่า” อาจสะเทือน


แต่ “หมูทอด…กอดคอ” ไม่มีปัญหา นี่คือ “ปัญญา” ที่เกิดขึ้นหลัง “ปัญหา”