อีเวนต์ “ม็อบ”

market-think สรกล อดุลยานนท์


มีคนบอกว่าถ้าอยากรู้ว่าวัฒนธรรมของ “เด็กรุ่นใหม่” เป็นอย่างไร ให้ไปดู “ม็อบ” ของ “คณะราษฎร 2563”

ตั้งแต่ข้อเสนอของ “ม็อบ” ที่ทะลุเพดาน ชนิดที่ “คนรุ่นเก่า” แค่คิดยังไม่กล้าคิดเลย แต่ “เด็ก” กล้าคิดและนำเสนอ

ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าเด็กพวกนี้เหมือน “ลูกวัว” ไม่กลัว “เสือ” คือ เด็กยังเล็กอยู่ ไม่รู้จัก “เสือ” แต่คนรุ่นก่อนรู้ว่า “เสือ” น่ากลัว

ในมุมธุรกิจเราก็เห็นแบบนี้เยอะ “ประสบการณ์” ของคนรุ่นที่ผ่านมาด้านหนึ่งเหมือนว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ข้ารู้ ข้าดู ข้าเห็น

แต่อีกมุมหนึ่ง “ประสบการณ์” ก็เป็น “กำแพง” กั้นขวางไม่ให้เรากล้าคิดอะไรใหม่ ๆ บางทีเราก็ถูก แต่บางทีเราก็ผิด
หรือวิธีการเคลื่อนม็อบของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา มีคนบอกว่าเหมือนเขากำลังเล่นเกม ROV กันอยู่ ไม่มี “แกนนำ” มีแต่ “แกนนอน”

รวมพลังของคนที่ไม่รู้จักกันไล่ตี “ป้อม” แต่วิธีคิดของรัฐบาลยังเป็นแบบเก่า คิดแบบ “หมากรุก” ทุกตัวเดินเหมือนเดิม “ม้า” ต้องเดินเป็นตัว L ถ้ากิน “ขุน” ได้เมื่อไร ชนะทันที

แต่พอเจอเกมที่ไม่มี “แกนนำ” ก็ไปไม่เป็น หรือการใช้โซเชียลมีเดียขับเคลื่อน “ม็อบ” ก็เช่นกัน

ลองเทียบระหว่างม็อบ กปปส. เมื่อ 6-7 ปีก่อน ที่ต้องตั้งเวทีขนาดใหญ่ มีอาหารเลี้ยง ถ่ายทอดสดผ่านทีวีดาวเทียม
ช่วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ แกนนำบอกว่า ต้องใช้งบวันละ 10 ล้านบาท

แตกต่างจากม็อบคณะราษฎร 2563 ที่แทบจะไม่ใช้งบอะไรเลย เวทีก็ไม่มี เครื่องเสียงก็แค่โทรโข่ง ใช้เฟซบุ๊ก ทวีตเตอร์ นัดชุมนุม บอกล่วงหน้าแค่ชั่วโมงเดียว คนก็พรึ่บแล้ว

ไม่ได้อยากมาฟังใครปราศรัย แต่มาแสดงตัวว่าสนับสนุนแนวคิดของคณะราษฎร หรือวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกันใน “ม็อบ” มีคนบอกว่าเหมือนกับพวก “ด้อม” ที่เป็นแฟนคลับศิลปินเคป๊อป จัดระเบียบกันเอง ช่วยกันส่งเสื้อกันฝน
หมวก แว่น เป็นแถวยาว มีการทำสัญลักษณ์ภาษามือสื่อสารกันช่วยกันทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เหมือนเล่นเกมออนไลน์

เวลามีใครคิดแบบเก่า ๆ ว่าม็อบครั้งนี้มีคนชักใย หรือเด็กคิดเองไม่เป็น ผมจะบอกว่าให้ไปดูบรรยากาศในม็อบก่อน
ถ้าเขาคิดระบบจัดการเองแบบนี้ได้ เรื่องอื่น ๆ เขาก็คิดเองได้ ตอนเลิกม็อบ ก็ช่วยกันเก็บขยะ จน กทม.ต้องออกมาชื่นชม

แผ่นป้ายแสดงความเห็นก็ใช้กระดาษ A4 ข้อความกระชับ น่าสนใจ เหมือนกับแฮชแท็กในโซเชียลมีเดีย บางทีจะก้าวร้าว หรือเกินเลยไปในมุมมองของผู้ใหญ่ แต่การดีไซน์รูปที่ใช้ในการรณรงค์ หรือประกาศต่าง ๆ ก็สวยมาก

เป็นฝีมือแบบ “คนรุ่นใหม่” ชัดมาก สำหรับ “ผู้ใหญ่” ที่อยากรู้ว่า “เด็กรุ่นใหม่” เป็นอย่างไร ผมอยากให้ลองไปสังเกตการณ์ใน “ม็อบ”

หรือล่าสุด วิธีคิดของเจ้าของศูนย์การค้าต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ “ม็อบ” มาเยือน เขาจะรีบปิดห้างทันที
เพราะกลัวว่าจะมีความรุนแรง หรือไม่อยากให้ม็อบมาใช้ห้องน้ำ

แต่วันนี้มีหลายห้างที่คิดอีกมุมหนึ่ง “ม็อบ” กลุ่มนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ มีกำลังซื้อ และเป็นแฟลชม็อบแค่ 2 ทุ่มก็กลับแล้ว
ตามปกติต้องใช้งบจัดอีเวนต์เรียกคนเป็นแสนเป็นล้านจะได้คนมาสัก 1,000 คน

แต่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องจ่ายสักบาทก็มีคน 2,000-3,000 คนมาใช้บริการในห้าง ยิ่งตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
ใคร ๆ ก็อยากได้ลูกค้า

พอมีห้างหนึ่งลองเปิดดู ปรากฏว่าขายดีมาก เหมือนกับพวกร้านขายไก่ทอด-ลูกชิ้นทอด ที่ตามมาขายในม็อบ ยอดขายเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

ตอนนี้สังเกตไหมครับ ไม่มีศูนย์การค้าไหนปิดเลย บางแห่งถึงขั้นอยากให้ม็อบมาหน้าห้างอีก เพราะจะช่วยเพิ่มยอดขายในห้าง

นี่คือมิติใหม่ของ “ม็อบ” วันนี้