กระจายรายได้แท้ทรู

market-think สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน น้องที่ต่างจังหวัดเล่าว่า แค่เริ่มต้นสมัครนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.

ธุรกิจในจังหวัดก็คึกคักขึ้นมาทันที

ร้านทำป้าย โรงพิมพ์ต่าง ๆ มีชีวิตชีวา

คนงานต้องทำโอที เพราะงานเร่ง-งานด่วน

ร้านเครื่องเสียง เวที ก็เช่นกัน

คนต่างจังหวัดรู้ดีว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง การกระจายรายได้จะเกิดขึ้นทันที

โดยที่รัฐไม่ต้องมีแคมเปญอะไร

ไม่ต้องคิดมาตรการแจกเงินหรือคูปองอะไรเลย

ธรรมชาติจัดสรรเองครับ

ผู้สมัครทุกคนพร้อมลงทุนเพื่อการเลือกตั้งอยู่แล้ว

ไม่ต้องกระตุ้นอะไรเลย

แค่เปิดทางให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีก็พอแล้ว

ในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามคิดกลยุทธ์เติมเงินในกระเป๋าประชาชนเพื่อเอาไปใช้จ่าย

แบบโครงการไทยช่วยกัน

หรือทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า “ของถูก” อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ช่วยกระตุ้นให้คนเที่ยวมากขึ้น

รัฐยอมควักกระเป๋าช่วยเราจ่ายเงิน ทำให้รู้สึกว่าไปเที่ยวที่ไหนก็ถูก

มาตรการเหล่านั้นก็ได้ผลพอสมควร

แต่อย่าลืมนะครับว่า เวลาคนเราจะจ่ายเงินนั้น “ความเชื่อมั่น” มีความสำคัญมาก

ถ้ามั่นใจว่าอนาคตดี เงินเดือนเพิ่ม ไม่ตกงาน

แบบนี้พร้อมจ่าย

กู้มาจ่ายก็ยอม

แต่ถ้าไม่มั่นใจ ต่อให้เห็น “ของถูก” อยู่เบื้องหน้า แต่ต้องควักกระเป๋าเพิ่มบางส่วน

แบบนี้เก็บเงินดีกว่า

โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จึงมีผลสำหรับคนที่พอมีเงิน หรือมีเงินมาก ๆ อยู่แล้ว

แต่ไม่มีผลกับคนที่มีเงินน้อย และไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงด้านการงาน

รู้ว่า “ของถูก” แต่เก็บเงินดีกว่า

ที่สำคัญรัฐต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้

อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ตั้งงบฯไว้ 22,400 ล้านบาทในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม

ปรากฏว่าใช้ไปแค่ 6,000-7,000 ล้านบาท

เหลืออีกประมาณ 15,000 ล้านบาท

ต้องขยายเวลาไปถึงต้นปี

เพราะคนไม่มีเงิน ไม่มีความเชื่อมั่นในอนาคต

ไม่อยากควักเงินจ่ายเพิ่ม

ในขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่น

ใช้งบฯ 3,000-5,000 ล้าน แต่กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างชัดเจนและรวดเร็ว

เพราะผู้สมัครเขาพร้อมควักกระเป๋าจ่ายในการหาเสียง

ไม่รู้ว่าเท่าไร

แต่เยอะแน่นอน

เป็นกลไกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย

เงินจะหมุนเวียนในพื้นที่ จากโรงพิมพ์ ทำป้าย ร้านอาหาร ฯลฯ จะกระจายเข้ากระเป๋าแรงงาน

เขาก็นำไปซื้อของในท้องถิ่นแบบไม่ต้องใช้ “แอป” อะไร

เข้าสู่ “รากหญ้า” อย่างแท้จริง

การทำให้คนมีกำลังซื้อที่ถูกต้อง คือ การสร้างงาน

ให้แรงงานทำงานได้ ได้เงินเพิ่ม

ไม่ใช่แจกเงิน

เงินเข้ากระเป๋าจากการทำมาค้าขาย คือ ความมั่นคงที่แท้จริงของผู้บริโภคครับ

เงินเข้ากระเป๋าแบบนี้ เขาจะพร้อมจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องกระตุ้นอะไรเลย

มันเป็นเรื่องจิตวิทยาครับ

นึกถึงตอนสินค้าเกษตรราคาดี

เกษตรกรมีความมั่นใจในอนาคต

เขาก็จับจ่ายใช้สอย

รากหญ้าขยับ กลไกเศรษฐกิจแท้จริงเขยื้อน

…ยอดพีระมิดก็ยิ้มด้วย

ไม่เหมือนตอนนี้ที่รากหญ้าเหี่ยวแห้ง

กลไกเศรษฐกิจฝืด ๆ

เอ่อ…แต่ยอดพีระมิดก็ยังยิ้มเหมือนเดิมนะครับ

แปลกดี