คนละครึ่ง

marketthink
สรกล อดุลยานนท์

ไปที่ไหนก็มีแต่คนชมโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาล

เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้ารายย่อยได้อย่างชัดเจน

ส่วนหนึ่งเพราะโครงการนี้ไม่ซับซ้อน

ตรงไปตรงมา ใช้งานง่าย

ผมชอบวิธีคิดของโครงการนี้ที่เล่นกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ต้องกินต้องใช้อยู่แล้ว

รัฐช่วย 150 บาทต่อวัน

แต่รวมทั้งหมด 3,000 บาทต่อคนภายในสิ้นปีนี้

รัฐไม่ได้ให้เป็นเงินสด

แต่แจกเงินดิจิทัลเข้ากระเป๋าชาวบ้าน

บังคับให้ใช้ตามร้านค้าต่าง ๆ

ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการก็ได้เงินสดครึ่งหนึ่งจากลูกค้า อีกครึ่งหนึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะโอนให้ภายหลัง

ในมุมของชาวบ้านที่ไปซื้อของหรืออาหารในร้านค้าต่าง ๆ ก็เหมือนกับว่ามีคนช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง

จ่ายเองแค่ครึ่งเดียว

มองสินค้าทั้งร้านคล้าย ๆ กับว่าติดป้าย sale ลด 50% ทั้งร้าน

รุ่นพี่คนหนึ่งเล่าว่าช่วงเริ่มโครงการผู้จัดการแบงก์ออมสินแห่งหนึ่ง ต้องไปชวนร้านค้าที่เป็นลูกค้าของแบงก์เข้าโครงการคนละครึ่ง

ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าร่วม

ต้องอ้อนวอนขอร้อง

จนร้านค้าต่าง ๆ ยอมเข้าร่วมเพราะเกรงใจผู้จัดการแบงก์

แต่ไม่ได้หวังผลอะไรจากโครงการนี้

ผ่านไปแค่เดือนเดียว สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไป

วันนี้ผู้จัดการแบงก์คนนี้เดินผ่านร้านค้า เจ้าของร้านยกมือไหว้ขอบคุณเลย

เพราะขายดีมาก

ส่วนร้านที่ไม่เข้าโครงการ ยอดขายหายไปเห็น ๆ เลยครับ

นึกถึงเวลาที่เราเดินผ่านร้านอาหาร 2 ร้าน

ร้านหนึ่งเข้าโครงการคนละครึ่ง อีกร้านไม่เข้าร่วม

เราจะเข้าร้านไหน

ร้านที่ขายราคาเต็ม หรืออีกร้านหนึ่งที่เราควักจ่ายแค่ 50%

เราคงเลือกร้าน “คนละครึ่ง” แน่นอน

มาตรการนี้จึงช่วยให้ร้านค้าย่อยได้ประโยชน์ถ้วนหน้า

ไม่เหมือนโครงการก่อน ๆ ของรัฐบาลที่มีข้อครหาว่าช่วย “เจ้าสัว”

วิธีการของโครงการ “คนละครึ่ง” ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของชาวบ้านระดับล่างแบบตรงไปตรงมา และช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าย่อย

เหมือนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบรดน้ำที่ราก

ไม่ใช่รดน้ำที่ใบ

แบบนี้เงินจะหมุนหลายรอบ

ถามว่าโครงการนี้มีช่องโหว่ให้ร้านค้าทุจริตไหม

ตอบได้เลยว่า “มี”

ถ้าลูกค้ากับร้านค้ารู้กัน ไม่มีการซื้อขายจริง

แล้วเอาเงินสดที่รัฐโอนให้มาแบ่งกัน

ทำได้ไหม

ทำได้

แต่ถามว่าจะมีคนทำแบบนี้เยอะไหม ไม่น่าจะเยอะมาก

เพราะจำนวนเงินน้อย

และชาวบ้านเอาไปใช้จ่ายในโครงการ “คนละครึ่ง” จริง ๆ จะได้ประโยชน์มากกว่า

ถ้าคิดแบบเดิมๆก็ต้องพยายามหาทางป้องกันด้วยการเพิ่มขั้นตอนต่าง ๆ ให้มากขึ้น

พอป้องกันมาก ๆ เข้าการใช้งานก็ยุ่งยาก

สุดท้ายคนก็ไม่ใช้

กลายเป็นว่าพยายามป้องกัน “ปัญหา” ที่เกิดจากคนไม่กี่คน

แต่ทำลาย “โอกาส” ของคนจำนวนมาก

โชคดีที่ทีมเศรษฐกิจชุดนี้เลือก “โอกาส” มากกว่า “ปัญหา”

อยากรู้จริง ๆ ว่าใครคิดโครงการนี้

ชื่นชมครับ