โลกที่เปลี่ยนไป

marketthink
สรกล อดุลยานนท์

 

ปี 2563 เป็นปีที่ผ่านไปเร็วมาก

เร็วระดับจาก “ชาตินี้” ไป “ชาติหน้า”

กะพริบตาแวบเดียวเกิดใหม่เลย

ผมเชื่อว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่หลายคนไม่อยากจะจำ

อยากจะลืม อยากจะคิดว่าไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตมาก่อน

แต่ “ความจริง” ก็คือ “ความจริง” ครับ

เหมือน “ความจริง” ที่ “โควิด-19” จะอยู่กับเราไปถึงปี 2564

ทั้งที่มันควรจะจบไปพร้อมกับปี 2563

จำได้ใช่ไหมครับว่า เจ้าไวรัสตัวนี้เกิดที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน

เหมือนไกลจากเมืองไทยมาก

ระบาดหนักช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว

แป๊บเดียวเข้ามาเมืองไทยแล้ว

ครั้งนั้น เราตกใจมาก เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่ของโลก และระบาดรวดเร็วมาก

คนรุ่นเราไม่เคยเจอกับ “โรคระบาด” ระดับโลกมาก่อน

เราไม่รู้จักมัน

มันก็ไม่รู้จักเรา

คนไทยโชคดีที่เป็นคนที่ระวังตัว

…กลัวไว้ก่อน

พอเจอมหันตภัยที่มองไม่เห็น คุณหมอบอกให้ทำอะไร เราก็ทำ

ให้ใส่หน้ากาก ก็ใส่

ให้ล้างมือบ่อย ๆ ก็ล้าง

ให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน อย่าออกไปไหน ก็ไม่ออก

รัฐบาลจะล็อกดาวน์ประเทศ จะปิดอะไร เราก็ไม่บ่น

ไม่เหมือนกับประเทศตะวันตก ที่ถือเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นชีวิตจิตใจ

ให้หน้ากากก็ไม่ใส่

ใครใส่ก็ถูกมองว่าเป็นคนป่วย

ไม่เหมือนกับเมืองไทย

อาจด้วยนิสัยอย่างนี้เอง ทำให้เราสามารถควบคุมการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

แม้จะต้องแลกด้วยหายนะทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

นั่นคือ เรื่องราวในอดีต

แต่พอมาถึงวันนี้ที่เมืองไทยเกิดการระบาดครั้งที่สอง

ไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้กลายพันธุ์ครับ

เป็น “ไวรัสสีเทา”

คือ จุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจสีเทา

ไม่ว่าจะแรงงานเถื่อน หรือบ่อนการพนัน

พอเกิดขึ้นในแหล่งหรือกระบวนการที่ผิดกฎหมาย การสืบหาไทม์ไลน์จึงยากขึ้นกว่าเดิม

เพราะทุกคนไม่ค่อยมีใครบอกรายละเอียด

ยิ่งนานวันยิ่งดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดจะไม่หยุด ตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งเห็นกราฟที่คุณหมอด้านระบาดวิทยาคาดการณ์ไว้ ยิ่งน่ากลัว

เพราะถ้าควบคุมแบบกลาง ๆ ตัวเลขอาจพุ่งไปถึงหลักพันต่อวัน

ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะบทเรียนในอดีตที่รัฐบาลเล่นบทเข้มมากเกินไป

ดูแต่ตัวเลขคนติดเชื้อไวรัส คิดว่ายอดคนติดเชื้อเป็น 0 คือ ชัยชนะ

เศรษฐกิจจึงระเนระนาด

ครั้งนี้รัฐบาลจึงค่อนข้างระมัดระวังที่จะใช้มาตรการที่เข้มเกินไป

แต่พอเจอ “ไวรัสสีเทา” เข้า จำนวนคนติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับเจ้าไวรัสตัวนี้แล้ว

และคุณหมอก็มีประสบการณ์มากขึ้นว่าจะรักษาโควิด-19 อย่างไร

ความตื่นตระหนกจึงน้อยลง

คนเริ่มมองโลกในแง่ดีมากขึ้น

การระมัดระวังตัวจึงลดลง

ปี 2564 น่าจะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 แนวทางนี้ชัดเจนขึ้น

ระหว่างแนวคิดด้านสาธารณสุขกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจ

แต่ปีนี้ยังโชคดีกว่าปีก่อน เพราะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือ “วัคซีน” ที่เริ่มฉีดกันในหลายประเทศ

ถ้าวัคซีนไม่มีปัญหา อย่างน้อยเราก็รู้ว่าปัญหาเรื่องโควิดจะจบอย่างแน่นอน

ช้าหรือเร็วแค่ไหนเท่านั้นเอง

ผมเข้าใจคุณหมอที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขคนติดเชื้อ และการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว

แต่ผมก็เห็นใจคนที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และชาวบ้านระดับรากหญ้าเหมือนกัน

ช่วงที่ผ่านมาก็มีบทเรียนให้เห็นมาแล้ว คำถามแนวทางเลือกว่า จะยอมตายด้วยโควิด หรือจะให้อดตาย จะดังขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่มีอะไรถูก อะไรผิดครับ

ทุกอย่างเมื่อมีรายรับ ก็ต้องมีรายจ่าย

เพราะ “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว”

แฮ่ม…ชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของผมเองครับ