“รอบคอบ” หรือ “ช้า”

Market-think สรกล อดุลยานนท์

ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกมาพูดเรื่องการฉีดวัคซีนของไทยว่าจะต้องทดสอบให้มั่นใจก่อนว่าวัคซีนนั้นปลอดภัย

“สำหรับคนไทย ผมตัดสินใจไม่รับความเสี่ยงแบบนั้น ผมไม่ยอมให้รีบร้อนฉีดวัคซีนที่ยังทดสอบไม่ครบถ้วน และไม่ยอมเป็นประเทศทดลอง”

ฟังเหมือนกับว่ารัฐบาลมีความระมัดระวัง รอบคอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าใครติดตามวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลด้วยการใช้ภาษา

เปลี่ยนจากการระบาด “รอบสอง” เป็นการระบาด “รอบใหม่”

เปลี่ยนจากการแบ่งโซนสีตามความรุนแรงของการระบาด

แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว

เปลี่ยนเป็น “พื้นที่มีการควบคุมสูงสุด-ควบคุม-เฝ้าระวังสูง-เฝ้าระวัง”

ครั้งนี้ก็เหมือนกัน

ในขณะที่มีคนเริ่มบ่นว่าระบบการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลไทยช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลของประเทศต่าง ๆแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า “ช้าจริง”

ทั้งการสั่งวัคซีนให้พอเพียงกับประชากรก็น้อยกว่าหลายประเทศ

เริ่มต้นฉีดก็ช้ากว่า

แต่ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนคำจาก “ลบ” มาเป็น “บวก”

เปลี่ยนคำว่า “ช้า” เป็นคำว่า “รอบคอบ”

นักบริหารทุกคนจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี

“ช้า” ย่อมมีเวลาตรวจสอบมากกว่า “เร็ว” แต่บางเรื่อง “ช้า” ก็เจ๊งเลย

“เทียม โชควัฒนา” จึงมีหลักการบริหารสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่ยังคลาสสิคถึงวันนี้

“เร็ว-ช้า-หนัก-เบา”

อะไรควรเร็ว เร็ว

อะไรควรช้า ช้า

อะไรควรหนัก หนัก

อะไรควรเบา เบา

“ผู้นำ” ที่ดีต้องประเมินภารกิจและเลือกจังหวะให้ถูกต้อง

ดังนั้น คำถามที่สำคัญมากในเรื่องนี้ก็คือเรื่อง “วัคซีน” เราต้องเร็วหรือช้า

อย่าลืมนะครับสถานการณ์โควิดในวันนี้ต่างจากเมื่อปีที่แล้ว

ปีที่แล้ว เรายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แต่วันนี้เรามี “วัคซีน” ที่เป็น “คำตอบ” ว่าสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้จะจบลงอย่างไร

ถ้าคนทั้งโลกฉีดวัคซีน เราจะปลอดภัย

แต่วัคซีนโควิดนั้นแตกต่างจากวัคซีนอื่น เพราะเร่งรีบกว่าปกติ

วัคซีนของไฟเซอร์ก็ใช้วิธีการผลิตแตกต่างจากที่เคยทำมา

มีการทดลองในคนมาแล้ว พอเชื่อถือได้ว่าปลอดภัย

แต่ไม่มีใครรู้ว่าภูมิคุ้มกันของวัคซีนแต่ละตัวยาวนานเท่าไร

ตามปกติจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีเพื่อดูภูมิคุ้มกันของคนที่ฉีดมาแล้วว่ายาวนานแค่ไหน

แต่ในสถานการณ์สู้รบแบบติดดาบปลายปืนในสงครามโควิด

เรื่องนี้ไม่สำคัญเท่าไร

เราต้องคิดว่าเราไม่ได้อยู่แบบโดดเดี่ยวคนเดียวในโลก

ถ้าเรายอมรับว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน อิสราเอล ฯลฯ

หมอเขาเก่งไม่แพ้หมอไทย

กว่าจะเลือกวัคซีนแต่ละตัว คงต้องมีกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด

ผู้นำของแต่ละประเทศก็คงรักประชาชนของเขาไม่น้อยกว่าเรา

เผลอ ๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

แค่เราดูว่าประเทศเหล่านั้นเลือกวัคซีนอะไร เราก็พอตัดสินใจได้

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจซื้อวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นจริง ๆ

เหมือนกับไม่กล้าใช้เงิน

การซื้อวัคซีน Astra Zenneca 26 ล้านโดส ใช้กับคนได้ 13 ล้านคน

ใช้เงิน 6,216 ล้านบาท

ถ้าต้องการมีวัคซีนสำหรับคนไทย 52 ล้านคนก็ใช้เงิน 24,800 ล้านบาท

น้อยกว่าโครงการคนละครึ่งเสียอีก

“คนละครึ่ง” แจกเงิน 3,000 บาทกับคนไทย 10 ล้านคน

ใช้เงินตั้ง 30,000 ล้านบาท

การฉีดวัคซีนให้คนไทยจนประเทศปลอดภัย คนในประเทศสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยได้

และเป็นประเทศที่ปลอดภัยให้คนต่างชาติมาท่องเที่ยวได้

ดีกว่าแจกเงินโครงการคนละครึ่งมากมายหลายเท่า

ถ้าตัดสินใจแบบนักบริหาร

ยอมเสียเงินสัก 60,000 ล้าน ซื้อหลาย ๆ เจ้า

ถ้าเจ้าไหนมีปัญหา เราก็ยังมีวัคซีนเจ้าอื่นสำรอง
เสียหายไปบ้างก็ยังคุ้ม

เพราะสงครามโควิดจบทันที

เรื่องความปลอดภัย ตอนนี้มีหลายประเทศฉีดไปแล้ว

เท่ากับมีคนทดลองแทนเราไปแล้ว หาข้อมูลดี ๆ ก็ตัดสินใจได้

อย่าอ้างเหตุผลเรื่อง “ความรอบคอบ” เลยครับ “ช้า” ก็คือ “ช้า”

“ไม่กล้าตัดสินใจ” ก็คือ “ไม่กล้าตัดสินใจ”

แม้วันนี้สถานการณ์โควิดทั้งโลกยังรุนแรงอยู่ แต่ทุกประเทศเขามองหา “โอกาส” กันแล้ว

เพราะรู้ว่ามีวัคซีน ปัญหาจบแน่นอน

ประเทศไหนพร้อมก่อน จะได้เปรียบทันที

โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวแบบไทย

ต้องกล้าตัดสินใจ