สรกล อดุลยานนท์ : ผู้นำ

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

ช่วงวิกฤตจะพิสูจน์ความเป็น “ผู้นำ” ของแต่ละองค์กร

โควิด-19 ระลอกแรก ผมชอบกลยุทธ์ “ยึดตู้เย็น-รถพุ่มพวง” ของ “คลาส คาเฟ่”

ระลอกนี้ ผมชอบไอเดียของ “ต้น-ต่อ” เพนกวิน อีท ชาบู

จริง ๆ ตอนครั้งแรก เขาก็พลิกเกมสู้ด้วยการขาย “ชาบูแถมหม้อ” มาแล้ว

เรียกเสียงฮือฮาเหมือนกัน

ครั้งนี้ ผมเพิ่งอ่านเฟซปุ๊กของ “ต้น”

เขาใช้เวลา 2 วัน ปรับเกมใหม่

คราวนี้หลุดโลกไปเลย

ผมจำได้ว่า “ต้น” เคยบอกว่าตอนโควิด-19 ระลอกสอง กลยุทธ์เก่าใช้ไม่ได้ผลแล้ว

ดังนั้น พอระลอกนี้มา เขาคิดใหม่เลย

ไม่ใช่หากลยุทธ์เพื่อขายชาบู

แต่กล้าเปลี่ยนสินค้าใหม่เลย

หาน่านน้ำใหม่ที่มี “ดีมานด์”

จาก “เพนกวิน อีท ชาบู” เป็น “เพนกวิน อีท ทุเรียน”

เขาบอกว่า “เวลาคนเรามันจนตรอกลำบาก เชื่อเถอะมันทำได้ทุกอย่างจริง ๆ”

ตั้งแต่เขารู้ว่ารัฐบาลให้ปิดร้านในวันศุกร์

บ่าย 3 เรียกประชุมทีมงาน จัดการปัญหาเรื่องพนักงาน วางแผนกำลังคนใหม่

จากนั้น ประชุมเพื่อหากลยุทธ์ฝ่าวิกฤต

สรุปว่าจะเปลี่ยนมาขาย “ทุเรียน”

เพราะเขาชอบกินทุเรียน

และคงเห็นโอกาสจากตลาด “ทุเรียน” แกะ

นี่คือ การทำงานของเขาครับ

#วันแรกช่วงเย็น

ประชุมตัดสินใจจะขายทุเรียน/ รีบคิดชื่อเอง/ ร่างแบบโลโก้เอง/ ออกแบบการ์ดขอบคุณเอง/ ทำระบบการจอง/ วิ่งไล่หา Supplier/ กลับมาเขียนคอนเทนต์ถึงตี 4

#วันที่2

เช้าตรู่ไปคุยกับสวนเอง/ ถ่ายรูปสินค้าเอง/ เที่ยงไปคุยโปรเจ็กต์กู้ชีพตัวที่ 2/ บ่ายกลับมาทำโฟโต้ชอป/ เขียนคอนเทนต์เองทั้งหมด/ คำนวณราคาขายเอง/ สั่งทำสติกเกอร์/ สั่งซื้อPackaging

คุยเรื่องการจัดส่ง/ เริ่มขายตอนเย็น/ ช่วยทีมงานตอบลูกค้า/ ปิดยอดตี 1

/ เริ่มแกะเปลือกตี 3/ จัดส่งไปจุดกระจายตอนเช้าอีกวัน/ ดูแลการจัดส่งเอง/ เที่ยงจัดส่งออกทั้งหมด/ กลับออฟฟิศมารับสายลูกค้าที่ไปจัดส่งต่อ

เป็นไงครับ

นี่คือ วิธีการทำงานของ “ผู้นำ” เวลาเจอ “วิกฤติ”

ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

หันไปดูรัฐบาลไทย

เวลามีคนตั้งคำถามว่าทำไมไม่ซื้อวัคซีนตัวเลือกอื่น เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม ฯลฯ

คำตอบจากนายกฯ รัฐมนตรี และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ เขายังไม่ยอมมาขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน เราก็ซื้อไม่ได้

และบริษัทผลิตวัคซีนจะขายกับรัฐบาลเท่านั้น ไม่ขายให้เอกชน

ผมเพิ่งอ่านบทความชิ้นหนึ่งของ “วิศรุต สินพงศพร” ที่เขียนใน workpoint today

เขาพูดถึงบทบาทของ “ผู้นำ” ในการเจรจาหาซื้อวัคซีน

เหตุที่อิสราเอลได้วัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้ประชากรของเขาได้เร็วที่สุดในโลก ไม่ใช่เพราะเขารอให้ไฟเซอร์มาขึ้นทะเบียนนะครับ

แต่เพราะนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ต่อสายโดยตรงถึง ดร.อัลเบิร์ต บูร์ล่า ซีอีโอของบริษัทผลิตวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)

คุยกันมากกว่า 30 ครั้ง เพื่อหว่านล้อมให้ไฟเซอร์ขายวัคซีนให้

ดร.อัลเบิร์ต บูร์ล่า บอกว่า “ผมคุยกับผู้นำรัฐมากมาย แต่ผมประทับใจความบ้าคลั่งของนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล เขาโทร.หาผม 30 ครั้ง และหว่านล้อมว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่เหมาะที่สุด สำหรับการทดลองใช้งานไฟเซอร์เต็มรูปแบบ”

ญี่ปุ่นก็เช่นกัน

เขาตั้งตัวแทนไปคุยกับไฟเซอร์หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ

17 เมษายน 2021 นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุงะ โทรตรงไปหา “อัลเบิร์ต บูร์ล่า” เลย

พอผู้นำเจรจาเอง เขาก็ยอมขาย

เออร์ซูล่า ฟาน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป หรือประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ ซีเลนสกี้ ของยูเครน ก็เช่นกัน

เขาโทร.ตรงไปเลย

เพราะเขารู้ว่าวันนี้ตลาดเป็นของ “ผู้ขาย” จะนั่งรอให้เขาเดินเข้ามาขาย

ไม่มีทางได้วัคซีน

เมื่อรู้อยู่แล้วว่าทางรอดของวิกฤตนี้คือ วัคซีน

และวัคซีนที่ดีที่สุดในโลก คือ “ไฟเซอร์”

ทุกคนจึงไม่ใช้ขั้นตอนการเจรจาซื้อปกติ

ความเป็น “ผู้นำ” จะพิสูจน์ให้เห็นในยามวิกฤต

ต้องเดินหน้านำทัพเอง

กล้าลัดขั้นตอน

ทำสิ่งที่คนคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้”

ไม่ใช่พยายามหาเหตุผลว่าทำไมถึงทำไม่ได้