โรบินฮู้ดภาค 2

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

ตอนนี้ “โรบินฮู้ด” จะมีภาค 2 แล้วครับ

แอป “โรบินฮู้ด” ของแบงก์ไทยพาณิชย์ ถือเป็นไอเดียการตลาดที่ดีมาก

เพราะเป็นการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารอย่างแท้จริง

ในขณะที่เจ้าอื่นคิดค่า GP ส่งอาหารจากร้านอาหารต่าง ๆ 30%

แต่ “โรบินฮู้ด” ไม่คิด

ร้านอาหารที่เดือดร้อนจากโควิดจะได้ค่าอาหารเต็ม ๆ ไม่โดนหักสักบาท

งบประมาณที่ใช้ในการทำแอปนี้ ถือเป็นงบฯ CSR

คิดง่าย ๆ ทำง่าย ๆ แต่ผลสะเทือนสูงมาก

เป็นการสร้าง “แบรนด์เลิฟ”

ส่วนแบงก์เองก็จะมีข้อมูลร้านค้าว่าร้านไหนขายดีไหม เงินหมุนเวียนดีไหม

เป็นข้อมูลในสนามจริง ทำให้การตัดสินใจเรื่องการให้สินเชื่อง่ายขึ้น

7 เดือนที่ผ่านมา มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานกว่า 1 ล้านคน++

ร้านอาหารที่เข้าร่วม 90,000 ร้าน

ไรเดอร์เข้าร่วม 15,000 คน

ยอดสั่งซื้อ 2.3 ล้านออร์เดอร์

เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท

ถือว่าประสบความสำเร็จดีทีเดียว

ถ้าเป็นหนัง แอป “โรบินฮู้ด” สั่งซื้ออาหารก็เป็นแค่ “ภาค 1”

เพราะตอนนี้เขากำลังเริ่มภาค 2 แล้ว

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” แม่ทัพของ “โรบินฮู้ด” บอกว่าตอนนี้ทีมงานกำลังพัฒนา

ระบบให้รับจองห้องพักของโรงแรม

เป็นการช่วยโรงแรมต่าง ๆ ในเมืองไทย

ผมมีน้องหลายคนทำธุรกิจโรงแรม เขาบ่นมากเรื่องการเสียค่า GP ให้กับแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Agoda และ Booking

อย่างต่ำ 18%

ถ้าต้องการมีชื่ออยู่ระดับต้น ๆ ต้องเสียเพิ่มถึง 30%

ยิ่งแพลตฟอร์มใหญ่เท่าไร อำนาจต่อรองก็สูงเท่านั้น

โรงแรมจะไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะยอดขายเกือบครึ่งมาจากการจองผ่านแพลตฟอร์ม

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ที่ใดมีเสียงบ่น ที่นั่นมีโอกาส”

“แจ็ก หม่า” เคยกล่าวไว้

“โรบินฮู้ด” ภาค 2 จึงเป็นการสร้าง “โอกาส” จาก “เสียงบ่น”

การเลือกทำแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการจองห้องพักใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

จะเริ่มต้นให้บริการประมาณต้นปีหน้า

ซึ่งคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวคงกำลังเริ่มโงหัวขึ้น

ลองคิดดูสิครับ ช่วงปีครึ่งที่ผ่านมาโรงแรมต่าง ๆ เจ็บหนักมาก

คงไม่มีใครคิดว่ารายได้จะหายไปเป็นปี

เงินในกระเป๋าก็ร่อยหรอ ลมหายใจรวยรินเต็มที

บาดเจ็บมายาวนาน ถ้ามีใครช่วยลดต้นทุนในการจองห้องพักให้เขาคงรู้สึกดีมาก

ช่วงเริ่มต้น “โรบินฮู้ด” จะเริ่มที่ลูกค้าคนไทยก่อน

เป็นแบบไทยเที่ยวไทย

ยังไม่ถึงขั้นเป็นแพลตฟอร์มที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ไอเดียของเขาน่าสนใจมาก

โรงแรมทุกแห่งคงชอบ เพราะเป็นทางเลือกที่เขาได้ประโยชน์สูงสุด

ไม่ต้องเสียค่า GP เหมือนกับเสียให้แพลตฟอร์มอื่น

กลยุทธ์ตอนนี้จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้คนใช้บริการรู้สึกว่าจองผ่าน “โรบินฮู้ด” แล้วคุ้มค่ากว่าหรือเท่ากับจองผ่าน Agoda หรือ Booking

เพราะโรงแรมคงไม่สามารถให้ห้องพักราคาพิเศษ ต่ำกว่า 2 แพลตฟอร์มได้

“โรบินฮู้ด” คงต้องเพิ่มลูกเล่นการตลาดเข้าไป

“ธนา” บอกว่า data ไม่ใช่ KPI ของ “โรบินฮู้ด”

แต่ “ความรู้สึกดี ๆ” และ “คำขอบคุณ” จากลูกค้าต่างหาก คือ KPI

ทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกดีกับแบงก์

เป็นการตลาดแบบนุ่มนวล

พอถึงเวลาจะทำธุรกรรมทางการเงิน

ขอแค่คิดถึงเราบ้างก็พอ