หนุ่มเมืองจันท์: ลุงพล

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

กรณี “ลุงพล” กลายเป็นกรณีศึกษาของสื่อมวลชนไทย

เพราะก่อนหน้านี้ “ลุงพล” เป็นผู้ต้องสงสัยในคดี “น้องชมพู่”

ด้วยตัวข่าวเองเป็นข่าวอาชญากรรมที่มีสีสัน เพราะมีความสะเทือนใจสูง เนื่องจาก “น้องชมพู่” เป็นเด็ก

และคดีมีความซับซ้อน ตำรวจหาหลักฐานมัดตัวผู้ร้ายไม่ได้

การติดตามข่าวจึงต่อเนื่องยาวนาน

ข่าวควรจะจบที่การติดตามคดี

แต่พอทำข่าวต่อเนื่อง นักข่าวบางสำนักก็ต้องหามุมข่าวในแต่ละวัน

กลายเป็นเรียลิตี้ “ลุงพล”

ยิ่งนานวันกระแสเริ่มตีกลับ มีคนบางกลุ่มเริ่มสงสาร “ลุงพล”

“ข่าวลุงพล” เป็นข่าวที่สร้างอภิมหาเรตติ้งในช่องที่ติดตามข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

“มดดำ” บอกว่าเรตติ้งสูงกว่าละครภาคค่ำอีก

จาก “ผู้ต้องสงสัย” คดีฆาตกรรมในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา “ลุงพล” กลับกลายเป็น “เซเลบ”

ในทางการตลาด ด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสื่อโทรทัศน์ยังมีพลัง

ใครว่าคนไม่ดูทีวี

…ไม่จริง

ข่าวโทรทัศน์สามารถทำให้ “ผู้ต้องสงสัย” คดีอาชญากรรมกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีแฟนคลับ

มียูทูบเบอร์จำนวนมากตามติดชีวิต “ลุงพล”

มีคนจ้างเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา

กลายเป็นศิลปินร้องเพลงคู่กับ “จินตหรา พูนลาภ”

เป็นนายแบบ ฯลฯ

แต่ในมุมของ “สื่อมวลชน” ข่าว “ลุงพล” กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่อง “จรรยาบรรณ” กับ “เรตติ้ง”

เพราะคนที่สื่อบางสำนักทำเป็น “เรียลิตี้” คือ “ผู้ต้องสงสัย” ในคดีที่น่าเศร้า

หัวหน้าช่างภาพกับนักข่าวของบางช่องถึงขั้นลาออกก็รับไม่ได้กับการทำข่าวโปรโมต “ลุงพล”

และเมื่อถึงวันนี้ “ลุงพล” กลายเป็น “ผู้ต้องหา” คดี “น้องชมพู่” เต็มตัว

ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วยว่าแค่ “ผู้ต้องหา”

ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด

“ลุงพล” ยังเป็น “ผู้บริสุทธิ์”

อยู่ดี ๆ ตำรวจก็ได้หลักฐานใหม่ และออกหมายจับ “ลุงพล”

มีการแถลงข่าวใหญ่โต ระดับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาแถลงข่าวเอง

ทุกสำนักข่าวไม่ว่าจะโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ เล่นข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่

มีคนตั้งคำถามขึ้นมาว่าเล่นข่าวใหญ่เกินไปหรือเปล่า

ทำไมให้พื้นที่มากกว่าข่าว พ.ร.บ.งบประมาณ หรือข่าววัคซีนอีก

และสงสัยว่ารัฐบาลตั้งใจให้ตำรวจออกหมายจับวันเดียวกับที่รัฐบาลโดนถล่มหนักในสภาหรือเปล่า

ประเด็นนี้มีเหตุผลครับ

เพราะกลยุทธ์ทางการเมืองที่ใช้เป็นประจำเวลาที่รัฐบาลกระแสตก

คือสร้าง “ข่าวใหม่” ขึ้นมากลบ

หรือเรียกกันว่า “เกมเปลี่ยนทางไฟ”

สมัยก่อนมักใช้ข่าวการจับเรื่องอาวุธสงคราม เพื่อเล่นงาน “คนเสื้อแดง” และพรรคฝ่ายค้าน

อย่างตอนที่ พล.อ.ประวิตรเจอเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน”

ข่าวจับอาวุธสงครามมาทันที

ครั้งนี้ก็เช่นกัน คดีนี้เป็นคดีเก่านานเป็นปี ถ้ามีหลักฐานใหม่ขึ้นมา การออกหมายจับกำหนดได้เลยว่าจะออกเมื่อไร

ทำไมต้องวันเดียวกับที่สภากำลังถล่มรัฐบาล

เป็นคำถามที่คนมีสิทธิ์สงสัย

และถ้าตั้งใจทำแบบนั้นจริง ๆ ก็ถือว่า “ได้ผล”

เพราะกระแสความสนใจข่าว “ลุงพล” สูงมาก

ส่วนการที่สำนักข่าวต่าง ๆ เล่นข่าวนี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องผิด

เพราะ “ลุงพล” วันนี้ไม่เหมือนกับวันที่เป็น “ผู้ต้องสงสัย”

สถานะวันนี้เขาเป็น “คนดัง” เหมือนดาราคนหนึ่ง

ถ้า “ดารา” ถูกออกหมายจับคดีทำให้เด็กเสียชีวิต

ข่าวนี้น่าสนใจ

และผลที่ออกมาก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

ในวันนั้น ทุกสำนักข่าวออนไลน์ live 2 ข่าวนี้พร้อมกัน

1.ถ่ายทอดสดการประชุมสภา

2.ปักหลักหน้าบ้านเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของ “ลุงพล”

นอกจากนั้นในช่วงเดียวกันบางเพจเพิ่มการถ่ายทอดสด “คุณโทนี่” ด้วย

live พร้อม ๆ กัน ในช่องทางออนไลน์เหมือนกัน ให้คนเลือกเองว่าจะดูอะไร

ปรากฏว่าการถ่ายทอดสดประชุมสภา คนฟังไม่มาก

ส่วน “คุณโทนี่” มีคนฟังในคลับเฮาส์เต็ม 8,000 คน ในเพจอีก 3-4 เพจ คนดูสด ๆ ตอนนั้นรวมกันประมาณ 3-40,000 คน

แต่การถ่ายทอดสด “ลุงพล” มีคนดูสด ๆ เป็นแสนครับ

และที่ผมดูตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ช่องที่ทำให้ “ลุงพล” กลายเป็น “เซเลบ” มีคนดู live หน้าบ้าน “ลุงพล” รวม 2 ล้านคน

ครั้งนี้ “สื่อ” ไม่ผิดครับ

เพราะข่าวนี้มีความเป็นข่าว และคนสนใจติดตาม

แต่การที่คนสนใจข่าว “ลุงพล” มากกว่าข่าวอื่น ๆ เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทย

“ความเป็นจริง” ที่ไม่ได้น่ายินดีอะไร

แต่เป็นเรื่องจริงของสังคมไทย