สรกล อดุลยานนท์ : ทางออก

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

ตอนที่ผมเห็นข่าวนักวิเคราะห์ทำนายว่า เศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะมีการฟื้นตัวเป็นรูปตัว K

งงครับ

นึกไม่ออกว่าจะเป็นรูปตัว K ได้อย่างไร

เพราะตามปกติเวลายกตัวอักษรภาษาอังกฤษมาเปรียบเทียบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

U V หรือ W

มันจะเป็นการลากเส้นเพียงเส้นเดียว

ขึ้น หรือ ลง เท่านั้นเอง

แต่ตัว K การลากเส้นมันจะแยกออกเป็น 2 เส้น

จนเมื่อฟังคำอธิบายจบ ผมชมคนที่คิดเลยครับ

เปรียบเทียบได้ดีมาก

เพราะตัว K นั้นมีความหมายว่า เศรษฐกิจจะลงอย่างแรงเหมือนแกนเส้นตรงของตัว K

จากนั้นก็แยกเป็น 2 เส้น

กระชากขึ้นเส้นหนึ่ง

และลดลงอีกเส้นหนึ่ง

เพราะคน 2 กลุ่มชะตากรรมแตกต่างกัน

“คนรวย” หรือคนที่มีโอกาสจะรวยยิ่งขึ้น

ส่วน “คนจน” จะจนลงยิ่งกว่าเดิม

หลังโควิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะรุนแรงมาก

ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก

โดยเฉพาะในเมืองไทย

สถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ มีแววว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งเริ่มตั้งกองทุนเพื่อซื้อกิจการที่ไปไม่รอด

เพราะตอนนี้ “ของถูก” เต็มบ้านเต็มเมือง

เขาแปร “วิกฤต” เป็น “โอกาส”

อาศัยสถานการณ์ “โควิด” เป็น “สปริงบอร์ด” ให้ทะยานขึ้นอย่างแรง

ส่วนคนที่ “ไม่มี” ในวันนี้สภาพกลับหนักหนาสาหัสแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

คนที่เคยพอมี ทำธุรกิจ SMEs วันนี้ปิดกิจการเป็นทิวแถว

ธุรกิจล้มระเนระนาด

ส่วนคนที่ “ไม่มี” กลุ่มที่เคยได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท

วันนี้ตกงานไม่มีงานทำ

เราจึงเห็นคนยืนเข้าแถวรอรับ “ข้าวกล่อง” ยาวเหยียด

บางคนบอกว่า นี่คือ “มื้อแรก” ของวันนี้

คิดดูสิครับ ขนาด “โควิด” ยังไม่จบ

ยังขนาดนี้

เชื่อกันว่าหลัง “โควิด” เบาบางลง

คนไทยทุกคนมีวัคซีนเต็มแขนแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยบอกไว้

ประเทศไทยก็ยังจะเผชิญกับ “อาฟเตอร์ช็อก” ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

เหมือนตอนการลอยตัวค่าเงินบาท

รัฐบาลประกาศลอยตัวเดือนกรกฎาคม ปี 2540

แต่เศรษฐกิจหนักหนาสาหัสที่สุด คือ ปี 2541-2542

ในขณะที่เราเห็นกระแสความไม่พอใจรัฐบาลรุนแรงขึ้น

และมีการตั้งคำถามถึงโครงสร้างสังคมของ “คนรุ่นใหม่”

“ม็อบ” ที่ก่อตัวขึ้นในวันนี้ จึงมี “คลื่นใต้น้ำ” ขนาดใหญ่ซ่อนตัว

พร้อมจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ตลอดเวลา

วันนี้ถนนแห่ง “ปัญหา” ทุกสาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม กำลังมาบรรจบกัน

น่ากลัวครับ

แล้ว “ทางออก” อยู่ที่ไหน

เวลาใครถามคำถามนี้ ผมจะนึกถึงมุขของ “โน้ต เชิญยิ้ม” ขึ้น

เขาบอกว่าหาทางออกไม่เจอ

“ก็ให้ออกที่ทางเข้า”

ฟังดูขำ-ขำ

แต่นึกดี ๆ ก็คมคาย

คล้าย ๆ กับหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธเจ้า

ต้องหา “ต้นเหตุแห่งทุกข์” ให้เจอ

อย่างเรื่องการแก้ปัญหาโควิด มีคนบอกว่า มี 3 แนวทางที่เกิดขึ้นในโลก

แนวทางแรก แบบ “อินเดีย”

ฉีดวัคซีนไม่ทัน คนติดโควิดกันเยอะมาก

มาก-มาก-มาก

ส่วนหนึ่งเสียชีวิต

แต่คนป่วยจำนวนมากหายป่วย

พอหายปั๊บ กลายเป็นเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ในประเทศขึ้นมา

แนวทางที่สอง แบบ “อังกฤษ”

ง่าย ๆ เลยครับ

ระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ตรวจ ATK บ่อย ๆ

ตอนนี้เป็นไงหรือครับ

ให้ดูการถ่ายทอดสดบอลพรีเมียร์ลีก

ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมแล้ว

แนวทางสุดท้าย คือ สหรัฐอเมริกา

คล้าย ๆ กับอังกฤษ

ระดมฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด

แต่ที่แตกต่างก็คือ นโยบายระดมการฉีดวัคซีนนั้นเกิดขึ้นหลังจากเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี

แค่เปลี่ยนจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็น “โจ ไบเดน”

“ผู้นำ” เปลี่ยน “นโยบาย” เปลี่ยน

แค่ไม่กี่เดือน สหรัฐอเมริกากลับคืนสู่สถานการณ์ปกติทันที

วันนี้ถ้าเราคิดว่าจะหา “ทางออก” จาก “ทางเข้า”

แนวทางของสหรัฐอเมริกาน่าสนใจมาก