สรกล อดุลยานนท์ : การตลาด “จริงใจ”

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

ผมเพิ่งได้สัมภาษณ์ “เจ๊จง” จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้าน หมูทอดเจ๊จง ในงานสัมมนาของ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์”

ร้านหมูทอดเจ๊จง ก็เหมือนกับร้านอาหารธรรมดา

คนรู้จักจาก “อาหารก่อน”

“หมูทอด” อร่อย

แต่ที่ร้านหมูทอดเจ๊จงเหนือกว่าร้านอื่น คือ “เรื่องเล่า”

“เรื่องเล่า” ของเจ้าของร้าน

“เจ๊จง” ไม่ใช่” นักการตลาด” แต่ “วิธีคิด” ของเธออินไซต์เข้าไปถึงใจผู้บริโภค

ใครได้ยินก็ชื่นชม

ที่สำคัญเธอไม่ได้ตั้งใจทำการตลาด

แต่ทำจาก “นิสัย” และ “ความจริงใจ” ของ “เจ๊จง” เอง

เช่น เรื่องการให้ลูกค้าเติมข้าวได้

ลูกค้าของร้านเจ๊จงสาขาแรก ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน วินมอเตอร์ไซค์

ทุกคนใช้แรงงาน กินจุ

ตามปกติเราขายข้าวหมูทอดจานละ 35 บาท ตักข้าวให้เท่าไรก็เท่านั้น

แต่ที่ร้านเจ๊จง ลูกค้าสามารถเติมข้าวได้

มีคนตั้งคำถามว่าแบบนี้ไม่ขาดทุนหรือ

“เจ๊จง” คิดง่าย ๆ ครับ

เธอบอกว่าตอนที่ลูกค้าผู้หญิงบางคน ขอลดปริมาณข้าวลง

เพราะกินไม่หมด หรือกลัวอ้วน

“เราก็ไม่ได้ลดราคาให้เขา คิดราคาเต็ม”

ดังนั้น ถ้าใครอยากเติมข้าวบ้าง เราก็ไม่คิดราคาเพิ่ม

“เจ๊ถือว่าถัว ๆ กันไป”

คิดง่าย ๆ แบบนี้

หรือเรื่องการซื้อกล้วยน้ำว้าให้ลูกค้าหยิบกินฟรี

เป็น “ของหวาน”

เรื่องนี้เกิดจาก “เจ๊จง” ไปตลาด เห็นแม่ค้าขายกล้วยน้ำว้าเหลือเยอะมาก

สงสารก็เลยซื้อมา

กล้วยเยอะมากกินในครอบครัวไม่หมด

“เจ๊จง” ก็เลยชวนลูกค้าที่กินข้าวอิ่มแล้ว ให้หักกล้วยน้ำว้าไปกินฟรี

จนเป็น “เรื่องเล่า” ที่บอกกันปากต่อปากว่า ร้านนี้ใจดีมีกล้วยน้ำว้าให้กินฟรี

หรือเรื่องแจกผักให้กินฟรี

“เจ๊จง” ป่วยไปโรงพยาบาลเอกชน เห็นคนไข้รอคิวยาว

อยู่ดี ๆ ก็นึกว่า “หมูทอด” ที่เราขายเป็นของทอด ถ้าลูกค้ากินแต่หมูทอดเดี๋ยวก็ป่วยมาโรงพยาบาล

ดังนั้น กินหมูทอดแล้วก็ควรกินผักด้วย

เธอเลยซื้อผักมาให้ลูกค้าตักไปกินฟรี ๆ

หรือ เรื่องตอนที่ “เจ๊จง” ป่วยเป็นโควิดช่วงเดือนเมษายน

เธอปิดร้านหมูทอดเจ๊จงและสาขาทันที

วัตถุดิบที่สต็อกไว้เสียหายเป็นแสน

พอวันที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด

เห็นร้านอาหารโวยใน “คลับเฮ้าส์” ว่าเดือดร้อน

เธอเลยประกาศในเพจว่าใครมีปัญหาเรื่องนี้ “เจ๊จง” พร้อมรับซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารขายเอง

เหตุผล เพราะเธอเคยเจ็บมาก่อน

เข้าใจคนที่เดือดร้อน

หรือตอนโควิดใหม่ ๆ เมื่อต้นปีที่แล้ว

คนตกงาน เดือดร้อนกันเยอะมาก

ไม่รู้จะหารายได้จากไหน

“เจ๊จง” ประกาศเลยว่าให้มารับ “ข้าวกล่องหมูทอดเจ๊จง” ไปขาย

ให้กำไรกล่องละ 7 บาท

ขายได้ 100 กล่องก็ 700 บาท

มีคนบอกว่าควรให้คนที่มารับข้าวกล่องจ่ายค่ามัดจำ

กลัวเชิด

แต่ “เจ๊จง” ไม่เอา บอกว่าคนที่เดือดร้อน บางทีมัดจำ 500 บาทเขาก็ไม่มี

เธอรู้ เพราะเคยจนมาก่อน

ถามว่ามีเชิดหนีไหม

“เจ๊จง” บอกว่า “มี” แต่ไม่เยอะ

“คนดี” มากกว่า “คนไม่ดี”

ผมบอก “เจ๊จง” ว่านี่เป็นการตลาดแบบ “จริงใจ”

ทำด้วยใจจริง ๆ

“เจ๊จง” บอกว่าทำแบบนี้แล้วมีความสุข

แล้วเล่าต่อว่าตอนนี้พอแม่ค้าผักรู้ว่าเธอซื้อผักมาให้ลูกค้ากินฟรี แม่ค้าขายรากผักชี พอตัดรากเสร็จ ก็เอาผักชีมาให้ฟรีหรือขายถูก ๆ

ลูกค้าในร้านพอเห็นว่าแจก “กล้วยน้ำว้า” ฟรี

วันหนึ่ง ขับรถมาที่ร้าน เอา “กล้วยน้ำว้า” มาให้

บอกว่าเป็น “กล้วยน้ำว้า” จากที่สวน

น่ารัก

ฟังเรื่องเล่าของ “เจ๊จง” แล้วมี “ความสุข”

“เจ๊จง” สอนให้รู้ว่าสังคมแบ่งปันที่เราฝันถึงและอยากได้

อย่านอนฝัน

แต่ให้ลงมือทำด้วยตัวเราเอง